27 สิงหาคม 2552

พระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาศิลปไทยจากพระเทวาภินิมมิต และศิลปินอาวุโสได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อร่วมปฏิสันถาร ถวายคำปรึกษาแด่พระองค์ มีหลายคนดังนี้คือ ครูเหม เวชกร, เขียน ยิ้มศิริ, จำรัส เกียรติก้อง, เฟื้อ หริพิทักษ์, ไพทูรณ์ เมืองสมบูรณ์, จุลทัศน์ พยาฆรานนท์, เฉลิม นาคีรักษ์, อวบ สาณะเสน และพิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ครั้งที่ประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี พ.ศ. 2480 - 2484 โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนจากตำราที่ทรงซื้อ และมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย และเมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงาน จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์ของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี ผลงานจิตรกรรมซึ่งทรงเขียนภาพเหมือนในยุคแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2502 - 2503 ทรงศึกษาความถูกต้องจากต้นแบบ และใช้ฝีแปรงระบายแสงเงาอย่างนุ่มนวล บรรยากาศและท่าทางของแบบที่จัดวางจะเป็นภาพด้านหน้า และด้านข้างตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเขียนภาพที่มีลักษณะเป็นภาพนามธรรมมากขึ้น เช่น ภาพมือแดง และในระยะต่อ ๆ มา ทรงเขียนภาพผสมผสานระหว่างข้อมูลที่ทรงเห็นจากธรรมชาติกับพระราชดำริส่วนพระองค์ จนเกิดเป็นรูปทรงของสิ่งที่ทรงเห็น แต่มีการตัดทอนพิ่มเติมตามแนวความคิดส่วนพระองค์ จนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ขึ้น เมือ่ได้เห็นผลงานก็จะนึกถึงที่มาของเรื่องราวได้ และที่ยังคงมีอยู่ก็คือเรื่องราวเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับคนและใบหน้า และเริ่มมีบางภาพที่มีรูปร่างของคนเต็มตัว เทคนิคในการเขียนภาพที่เคยใช้ฝีแปรงนุ่มนวลเปลี่ยนแปลงไป ทรงเขียนสีน้ำมันทับซ้อนหนาเป็นก้อน และใช้ฝีแปรงที่มีความเคลื่อนไหวฉับพลันมากขึ้น การแสดงออกของสีเปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริง มีลักษณะส่วนตัวมากขึ้น การตัดทอนโครงเส้นเกิดขึ้นตามจินตนาการ และการเขียนภาพกึ่งนามธรรมนั้น ภาพแต่ละภาพจะมีเนื้อหาตามความคิดของพระองค์เป็นแนวทางกำหนด องค์ประกอบของเส้น รูปทรง และสี ที่ทรงใช้จะสอดคล้องตามแนวคิดของภาพนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น