31 สิงหาคม 2552

พู่กันอาวุธประจำกายนักศิลปะ

พู่กัน (Brush)
พู่กันเป็นอุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยให้งานศิลปะ ได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ การเลือกพู่กันที่ดี ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสีจะทำให้สามารถสนองตอบความรู้สึก อารมณ์ ของศิลปิน พู่กันแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งพู่กันที่ดี (Raphael และ Pyramid ) จะได้รับความพิถีพิถันในการเลือกขนเพื่อมาทำพู่กัน ให้เหมาะสมกับพู่กันแต่ละประเภท
พู่กันสีน้ำพู่กันสีน้ำที่ดีควรมีลักษณะขนที่อ่อนนุ่ม สามารถอุ้มน้ำ อุ้มสี ได้มาก มีการคืนตัวที่ดี มีแรงสปริง และแรงดีดพอสมควร ทำจากขนสัตว์ ขนสัตว์ สำหรับสีน้ำ
ขนนก Petit Gris เป็นขนที่ดีที่สุดในการทำนำมาทำพู่กัน มีคุณสมบัติที่ไม่ดูดซับสีมากเกินไป เนื้อขนที่ละเอียด อ่อนนุ่มและพลิ้วไหว โปร่งเบา ลักษณะขนสีน้ำตาล Kazan,สีน้ำเงิน,สีทอง ได้รับการเลือกมาทำพู่กันมากที่สุด
ขน Red Sable มีลักษณะขนสีทองอมน้ำตาลแดง มีคุณสมบัติพิเศษในการอุ้มสีได้ดีเยี่ยม และมีการตอบสนองที่ไม่สามารถหาที่เปรียบได้ มีความสามารถในการคืนตัว และความยึดหยุ่น มีความหนาของขนทำให้มีคุณสมบัติในการดีดตัว
ขน Kolinsky และ Red Sable เป็นขนที่มาจากแถบไซบีเรีย จึงมีคุณสมบัติในการขยายตัวซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ และ “ในปัจจุบัน Raphael เป็นพู่กันเพียงยี่ห้อเดียวที่ใช้ขน Kolinsky มาผลิตพู่กัน” ขนกระรอก เป็นขนที่มีลักษณะขนไม่อ่อนนุ่มมากนัก แต่ก็สามารถอุ้มสี และอุ้มน้ำได้ดี ขนกระต่าย เป็นขนที่มีลักษณะอ่อนนุ่มมาก สามารถอุ้มน้ำ และอุ้มสีได้มาก
ขน Pony เป็นขนที่มีลักษณะไม่อ่อนนุ่มมาก แต่สามารถอุ้มน้ำ และอุ้มสีได้มาก
ขน Synthetic สำหรับสีน้ำ ขน Synthetic เป็นขนที่มีความอ่อนนุ่ม และมีความยึดหยุ่นดี ถึงแม้จะไม่สามารถดูดซับสี และน้ำได้ดีเท่ากับขนจากธรรมชาติ แต่ก็เลียนแบบในด้านรูปทรงได้ใกล้เคียงที่สุด มีข้อดี คือ ด้านความคงทน และอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่าขนจากธรรมชาติ โดยเฉพาะขนสีทอง และ Raphael ก็เป็นยี่ห้อเดียวที่ผลิตพู่กันโดยใช้ขน Synthetic พู่กันสีน้ำมัน พู่กันสีน้ำมันทีดีควรมีลักษณะขนพู่กันที่แข็ง เพราะต้องสามารถรองรับ และทนต่อความหนา ความหนักของสีและมีเดียมต่างๆของสีน้ำมันได้ พร้อมทั้งต้องมีแรงสปริงตัว คืนกลับเข้าที่เดิมได้ดี ทำจากขนสัตว์ ขนหมู ( Hog Bristles ) มีลักษณะขนที่แข็งเป็นเส้น ปลายขนจะแยกเป็นแฉก สามารถรองรับน้ำหนักของสี และ มีเดียม และมีแรงสปริงคืนตัวได้ดี ขนสังเคราะห์ สำหรับงานสีน้ำ และสีอคริลิค ขน Synthetic เป็นขนสังเคราะห์ที่มีปลายขนสีเข้ม และแหลม เป็นใยสังเคราะห์ที่ดีที่สุด มีความยึดหยุ่นสูง, มีความคงทน มีแรงสปริงตัวที่ดี และอ่อนพริ้ว ขนไนลอน หรือขนสังเคราะห์ 3 ชนิด เป็นขนที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว คือสามารถอุ้มสีได้มาก และมีแรงสปริงตัวกลับคืนสูง “Pyramid เป็นพู่กันที่ผลิตโดยใช้ขนสังเคราะห์ 3 ประเภทในการผลิตพู่กัน 1 ด้าม” ขน Golden Taklon เป็นขนสังเคราะห์พิเศษ ขนมีสีทอง สามารถอุ้มสี และอุ้มน้ำได้มาก มีความยึดหยุ่นสูง ความแข็งแรงของขนทำให้สามารถรองรับน้ำหนักของสีได้ดี “Pyramid เป็นยี่ห้อเดียวที่ผลิตพู่กันจากขน Golden Taklon ในการผลิตพู่กัน”
การดูแลรักษา ทำความสะอาดพู่กัน
การดูแลพู่กันอย่างดีก็จะทำให้พู่กันมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากระบายสีเสร็จ อย่าใส่พู่กันลงในภาชนะใส่น้ำในลักษณะเอาขนพู่กันแช่ลงไป เพราะจะทำให้ขนพู่กันเสียรูปทรง ล้างพู่กันให้สะอาดเมื่อเลิกใช้ในแต่ละวัน
วิธีทำความสะอาดพู่กันสีน้ำและสีอคริลิค
1. ล้างพู่กันด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำอุ่น
2. ล้างด้วยสบู่เหลวอีกครั้ง
3. ล้างสบู่ออกด้วยการล้างกับน้ำก๊อกเปิดไหลอ่อนๆ โดยขยี้เบาๆในฝ่ามือ
4. จัดขนพู่กันให้เรียบร้อย เช็ดด้ามให้แห้งแล้ววางไว้บนผ้านุ่มๆ
5. เก็บพู่กันโดยเอาด้ามพู่กันลง
วิธีทำความสะอาดพู่กันสีน้ำมัน
1. ใช้ผ้าเช็ดสีที่เหลือค้างที่ขนพู่กัน
2. ล้างพู่กันด้วยน้ำมัน Turpentine
3. ล้างด้วยน้ำอุ่นอีกครั้ง แล้วล้างด้วยสบู่เหลว จนหมดคราบสี
4. ล้างสบู่ออกด้วยการล้างกับน้ำก๊อกเปิดไหลอ่อนๆโดยขยี้เบาๆในฝ่ามือ
5. จัดขนพู่กันให้เรียบร้อย เช็ดด้ามให้แห้งแล้ววางไว้บนผ้านุ่มๆ
6. เก็บพู่กันโดยเอาด้ามพู่กันลง

ศัพท์ศิลปะ

โครงสร้างเคลื่อนไหว (mobile) เป็นงานประติมากรรมที่มีโครงสร้างบอบบางจัดสมดุลด้วยเส้นลวดแข็งบาง ๆ ที่มีวัตถุรูปร่าง รูปทรงต่าง ๆ ที่ออกแบบเชื่อมติดกับเส้นลวด เป็นเครื่องแขวนที่เคลื่อนไหวได้ด้วยกระแสลมเพียงเบา ๆ
งานสื่อผสม (mixed media) เป็นงานออกแบบทางทัศนศิลป์ที่ประกอบด้วยหลายสื่อโดยใช้วัสดุหลาย ๆ แบบ เช่น กระดาษ ไม้ โลหะ สร้างความผสมกลมกลืนด้วยการสร้างสรรค์
จังหวะ (rhythm) เป็นความสัมพันธ์ของทัศนธาตุ เช่น เส้น สี รูปร่าง รูปทรง น้ำหนักในลักษณะของการซ้ำกัน สลับไปมา หรือลักษณะลื่นไหล เคลื่อนไหวไม่ขาดระยะจังหวะที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันจะช่วยเน้นให้เกิดความเด่น หรือทางดนตรีก็คือการซ้ำกันของเสียงในช่วงเท่ากันหรือแตกต่างกันจังหวะให้ความรู้สึกหรือความพอใจทางสุนทรียภาพในงานศิลปะ
ทัศนธาตุ (visual elements) สิ่งที่เป็นปัจจัยของการมองเห็นเป็นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพ ได้แก่ เส้น น้ำหนัก ที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง สี และลักษณะพื้นผิว
ทัศนียภาพ (perspective) วิธีเขียนภาพของวัตถุให้มองเห็นว่ามีระยะใกล้ไกล
ทัศนศิลป์ (visual art) ศิลปะที่รับรู้ได้ด้วยการเห็น ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่รับรู้ด้วยการเห็น
ภาพปะติด (collage) เป็นภาพที่ทำขึ้นด้วยการใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ ผ้า เศษวัสดุธรรมชาติ ฯลฯ ปะติดลงบนแผ่นภาพด้วยกาวหรือแป้งเปียก
วงสีธรรมชาติ (color circle) คือวงกลมซึ่งจัดระบบสีในแสงสีรุ้งที่เรียงกันอยู่ในธรรมชาติ สีวรรณะอุ่น จะอยู่ในซีกที่มีสีแดงและเหลือง ส่วนสีวรรณะเย็นอยู่ในซีกที่มีสีเขียว และสีม่วง สีคู่ตรงข้ามกันจะอยู่ตรงกันข้ามในวงสี
วรรณะสี (tone) ลักษณะของสีที่แบ่งตามความรู้สึกอุ่นหรือเย็น เช่น สีแดง อยู่ในวรรณะอุ่น (warm tone) สีเขียวอยู่ในวรรณะเย็น (cool tone)
สีคู่ตรงข้าม (complementary colors) สีที่อยู่ตรงกันข้ามกันในวงสีธรรมชาติเป็นคู่สีกัน คือ สีคู่ที่ตัดกันหรือต่างจากกันมากที่สุด เช่น สีแดงกับสีเขียว สีเหลืองกับสีม่วง สีน้ำเงินกับสีส้ม
องค์ประกอบศิลป์ (composition of art) วิชาหรือทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสร้างรูปทรงในงานทัศนศิลป์

ชนิดของสี

สีน้ำ WATER COLOUR สีน้ำ เป็น สีที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ทั้งในแถบยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่นซึ่งมีความสามารถในการระบายสีน้ำ แต่ในอดีตการระบายสีน้ำมักใช้เพียงสีเดียว คือ สีดำผู้ที่จะระบายได้อย่างสวยงาม จะต้องมีทักษะการใช้พู่กันที่สูงมาก การระบายสีน้ำจะใช้น้ำ เป็นส่วนผสม และทำละลายให้เจือจาง ในการใช้สีน้ำ ไม่นิยมใช้สีขาวผสม เพื่อให้มีน้ำหนัก อ่อนลง และไม่นิยมใช้สีดำผสมใ ห้มีน้ำหนักเข้มขึ้น เพราะจะทำให้เกิดน้ำหนัก มืดเกินไป แต่จะใช้สีกลาง หรือ สีตรงข้ามผสมแทน ลักษณะของภาพวาดสีน้ำ จะมีลักษณะใส บาง และ สะอาด การระบายสีน้ำต้องใช้ความชำนาญสูง เพราะผิดพลาดแล้วจะแก้ไขยาก จะระบายซ้ำ ๆ ทับกันมาก ๆ ไม่ได้ เพราะจะทำให้ภาพออกมามีสีขุ่น ๆ ไม่น่าดู หรือที่เรียกว่า สีเน่า สีน้ำที่มีจำหน่าย ในปัจจุบัน จะบรรจุในหลอด เป็นเนื้อสีฝุ่นที่ผสมกับกาวอะราบิค ซึ่งเป็นกาวที่สามารถละลาย น้ำได้ มีทั้งลักษณะที่โปร่งแสง ( Transparent ) และกึ่งทึบแสง ( Semi-Opaque ) ซึ่งจะมีระบุ ไว้ข้างหลอด สีน้ำนิยมระบายบนกระดาษที่มีผิว ขรุขระ หยาบ
สีโปสเตอร์ POSTER COLOUR สีโปสเตอร์ เป็นสีชนิด สีฝุ่น (Tempera) ที่ผสมกาวน้ำ บรรจุเสร็จเป็นขวด การใช้งานเหมือนกับสีน้ำ คือใช้น้ำเป็นตัวผสมให้เจือจาง สีโปสเตอร์เป็นสีทึบแสง มีเนื้อสีข้น สามารถระบายให้มีเนื้อเรียบได้ และผสมสีขาวให้มีน้ำหนักอ่อนลงได้เหมือนกับสีน้ำมัน หรือสีอะครีลิค สามารถ ระบายสีทับกันได้ มักใช้ในการวาดภาพ ภาพประกอบเรื่อง ในงานออกแบบ ต่าง ๆ ได้สะดวก ในขวดสีโปสเตอร์มีส่วนผสมของกลีเซอรีน จะทำให้แห้งเร็ว
สีชอล์ค PASTEL สีชอล์ค เป็นสีฝุ่นผงละเอียดบริสุทธิ์นำมาอัดเป็นแท่ง ใช้ในการวาดภาพ มากว่า 250 ปีแล้วปัจจุบัน มีการผสมขี้ผึ้งหรือกาวยางไม้เข้าไป แล้วอัดเป็นแท่งในลักษณะของดินสอสี แต่มีเนื้อละเอียดกว่า แท่งใหญ่กว่า และมีราคาแพงกว่ามาก มักใช้ในการวาดภาพเหมือน
สีฝุ่น TEMPERA สีฝุ่น เป็นสีเริ่มแรกของมนุษย์ ได้มาจากธรรมชาติเช่น ดิน หิน แร่ธาตุ พืช สัตว์ นำมาทำให้ละเอียดเป็นผง ผสมกาว และน้ำ กาว ทำมาจากหนังสัตว์ กระดูกสัตว์ สำหรับช่างจิตรกรรมไทยใช้ ยางมะขวิด หรือกาวกระถิน ซึ่งเป็นตัวช่วยให้สีเกาะติดพื้นผิวหน้าวัตถุไม่หลุดได้โดยง่าย ในยุโรปนิยมเขียนสีฝุ่น โดยผสมกับกาวยาง กาวน้ำ หรือ ไข่ขาว สีฝุ่น เป็นสีที่มีลักษณะ ทึบแสง มีเนื้อสีค่อนข้างหนา เขียนสีทับ กันได้ สีฝุ่นมักใช้ในการเขียนภาพทั่วไป โดยเฉพาะภาพฝาผนัง ในสมัยหนึ่งนิยมเขียนภาพผาฝนัง ที่เรียกว่า สีปูนเปียก (Fresco)โดยใช้สีฝุ่นเขียนในขณะที่ปูนที่ฉาบผนังยังไม่แห้งดี เนื้อสีจะซึมเข้าไป ในเนื้อปูน ทำให้ภาพไม่หลุดลอกง่าย สีฝุ่นในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นผง เมื่อใช้งานจะนำมาผสมกับน้ำโดย ไม่ต้องผสมกาว เนื่องจากในกระบวนการผลิตได้ทำการผสมมาแล้ว การใช้งานหมือนกับสีโปสเตอร์
ดินสอสี CRAYON ดินสอสี เป็นสีผงละเอียด ผสมกับขี้ผึ้ง หรือไขสัตว์ นำมาอัดให้เป็นแท่งอยู่ในลักษณะของดินสอ เพื่อให้เหมาะสำหรับเด็ก ๆ ใช้งาน มีลักษณะคล้ายกับสีชอล์ค แต่เป็นสีที่มีราคาถูก เนื่องจากมีส่วนผสม อื่น ๆ ปะปนอยู่มาก มีเนื้อสีน้อยกว่า ปัจจุบัน มีการพัฒนาให้สามารถละลายน้ำ หรือน้ำมันได้ โดยเมื่อใช้ดินสอสีระบายสีแล้ว นำพู่กันจุ่มน้ำมาระบายต่อ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับภาพสีน้ำ ( Aquarelle ) บางชนิด สามารถละลายได้ในน้ำมัน ซึ่งทำให้กันน้ำได้
สีเทียน OIL PASTEL สีเทียน หรือ สีเทียนน้ำมัน เป็นสีฝุ่นผงละเอียด ผสมกับไขมันสัตว์ หรือขี้ผึ้ง แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง มีลักษณะทึบแสง สามารถเขียนทับกันได้ การใช้สีอ่อนทับสีเข้ม จะมองเห็นพื้นสีเดิมอยู่บ้าง การผสมสี อื่น ๆ ใช้การเขียนทับกัน สีเทียนน้ำมันมักไม่เกาะติดพื้น สามารถขูดสีออกได้ และกันน้ำ ถ้าต้องการให้สีติดแน่นทนนาน จะมีสารพ่นเคลือบผิวหน้าสี สีเทียนหรือ สีเทียนน้ำมัน มักใช้เป็นสีฝึกหัดสำหรับเด็ก เนื่องจากใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน และมีราคาถูก
สีอะครีลิค Acrylic COLOUR สีอะครีลิค เป็นสีที่มีส่วนผสมของ สารพลาสติกโพลีเมอร์ ( Polymer) จำพวก อะครีลิค ( Acrylic ) หรือ ไวนิล ( Vinyl ) เป็นสีที่มีการผลิตขึ้นมาใหม่ล่าสุด วลาจะใช้ นำมาผสมกับน้ำ ใช้งานได้เหมือนกับสีน้ำ และสีน้ำมัน มีทั้งแบบโปร่งแสง และทึบแสง แต่จะแห้งเร็วกว่าสีน้ำมัน 1 - 6 ชั่วโมง เมื่อแห้งแล้ว จะมีคุณสมบัติกันน้ำได้ และเป็นสีที่ติดแน่นทนนาน คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ ยึดเกาะติดผิวหน้าวัตถุได้ดี เมื่อระบายสีแล้ว อาจใช้ น้ำยาวานิช ( Vanish ) เคลือบผิวหน้า เพื่อป้องกันการขูดขีด เพื่อให้คงทนมากยิ่งขึ้น สีอะครีลิคที่ใช้วาดภาพ บรรจุในหลอด มีราคาค่อนข้างแพง
สีน้ำมัน OIL COLOUR สีน้ำมัน ผลิตจากการผสมของสีฝุ่น กับ น้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันลินสีด ( Linseed ) ซึ่งกลั่นมาจาก ต้นแฟลกซ์ หรือน้ำมันจาก เมล็ดป๊อบปี้ สีน้ำมันเป็นสีทึบแสง เวลาระบาย มักใช้ สีขาว ผสมให้ได้น้ำหนัก อ่อน แก่ งานวาดภาพสีน้ำมัน มักเขียนลงบนผ้าใบ (Canvas ) มีความคงทนมาก และ กันน้ำ ศิลปิน รู้จักใช้สีน้ำมัน วาดภาพมาหลายร้อยปีแล้ว การวาดภาพสีน้ำมัน อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือ เป็นปีก็ได้ เนื่องจากสีน้ำมัน แห้งช้ามาก ทำให้ไม่ต้องรีบร้อน สามารถวาดภาพสีน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ ๆ และสามารถแก้ไขงาน ด้วยการเขียนทับ งานเดิม สีน้ำมันสำหรับเขียนภาพ จะบรรจุในหลอด ซึ่งมีราคา สูง ต่ำ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ การใช้งานจะผสมด้วยน้ำมันลินสีด ซึ่งจะทำให้เหนียว และเป็นมัน แต่ถ้าใช้ น้ำมันสน จะทำให้แห้งเร็วขึ้น และสีด้าน พู่กันที่ใช้ระบายสีน้ำมัน เป็นพู่กันแบน ที่มีขนแข็ง ๆ สีน้ำมัน เป็นสีที่ศิลปินส่วนใหญ่ นิยมใช้วาดภาพ มาตั้งแต่สมัย เรอเนซองส์ ยุคปลาย

ศิลปินแห่งชาติ

นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๖๕ เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญในด้านประติมกรรม ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะและทั่วไป ได้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมทั้งที่เป็นงานศิลปะแบบปัจจุบันและประเพณีไว้มากมาย ได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองหลายครั้งและได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าปฏิบัติราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๘ ได้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณจนเกษียณอายุราชการ ผลงานประติมากรรมมีแสดงถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทั้งในประเทศและต่างประเทศผลงานประติมากรรมแบบปัจจุบันเป็นผลงานบุกเบิกในแนวทางสัจจะนิยมของประเทศไทยและผลงานประเพณีเป็นการอนุรักษ์และสืบต่อศิลปะแบบประเพณีของชาติ ในด้านวิชาการนั้นได้เป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรมในยุคบุกเบิกและก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๖ และยังทำหน้าที่นี้อยู่ในฐานะอาจารย์พิเศษ ด้วยบทบาทที่สำคัญในด้านวิชาการนี้ จึงได้รับปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยความสามารถดีเด่น จึงได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙
ถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาชั้นมูลและระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้นถวัลย์ได้รับทุนมาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ีผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ี 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะคำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมดเขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger (ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนีเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูป ถูกนักเรียนกรีดทำลายด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ ก็ต้องใช้เวลานานถึงสามสิบกว่าปี ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ท่านได้สร้างผลงานถาวรไว้หลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จิตรกรรม ฝาผนังสถานเอกอัครราชทูตไทยในบัวโนสไอเรส กรุงเวียนนาและกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพ ฯ บ้านพักเคแอลเอ็ม อาคารเชลล์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร พระตำหนักดอยตุง เชียงราย ปราสาทคร็อททอร์ฟในเยอรมัน ตราประจำตระกูลของบุคคลสำคัญในยุโรป ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา หอศิลป์ส่วนตัวที่เชียงราย ศาลาไทยที่ศูนย์วัฒนธรรมไทย ประเทศเยอรมนี ท่านได้รับเชิญเป็นศิลปินที่พำนักชั่วคราวในอิสราเอล เยอรมนี อเมริกา ตรุกี ญี่ปุ่น และสอนศิลปะชั้นสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เคยได้รับเหรียญทองสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมจากสมาคมสถาปนิกสยาม ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อพ.ศ. 2544 ปัจจุบันถวัลย์ ดัชนี เป็นศิลปินอิสระ มีบ้านพักอยู่ในเขตตัวเมืองเชียงรายนายทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ท่านได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ รวมอายุได้ 66 ปี นายทวีเป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญทางด้านจิตรกรรมซึ่งคนในวงการศิลปะยอมรับนับถือโดยทั่วไป เนื่องจากท่านได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมไว้เป็นจำนวนมาก เคยได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองหลายครั้ง รางวัลสูงสุดอันดับหนึ่งของท่านคือ ศิลปินชั้นเยี่ยมจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกงานจิตรกรรมที่มีอิทธิพลแก่ยุวศิลปินอีกหลายคน
ด้านวิชาการ นายทวีเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ผลงานทางศิลปะของได้พัฒนาและคลี่คลายอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ถือเป็น คุณลักษณะพิเศษ ในงานของนายทวี คือการผสมผสานระหว่างแบบเหมือนจริงกับแบบเหนือจริงตามแบบของตนเองอย่างอิสระผลงานของนายทวีจึงไม่ผาดโผน ทว่าเป็นไปอย่างเรียบ ๆ ประณีต ลึกซึ่ง มีสมาธิ วุฒิภาวะ และความมั่นใจ
นายทวี นันทขว้าง เริ่มเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๖ – ๒๔๘๐ จนสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากนั้นในระหว่าง พ.ศ .๒๔๘๐ – ๒๔๘๖ เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดลำพูน ๖ ปี โดยสำเร็จชั้นมัธยมศึกษา ในปี พ.ศ .๒๔๘๘ – ๒๔๙๑ ศึกษาต่อที่ Academy of Fine Arts of Rome และสำเร็จการศึกษาขั้น DIPOMA ACADEMIA DI BELLE ART DI ROMA
นายทวี นันทขว้าง เริ่มงานโดยเป็นครูชั้นตรีสอนที่โรงเรียนเพาะช่างในช่วงปี
พ.ศ .๒๔๙๒ – ๒๔๙๖ ในพ.ศ. ๒๔๙๗ ประจำแผนกเผยแพร่และประกวด กองส่งเสริมและเผยแพร่กรมการข้าว พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยศิลปกรให้เป็นผู้ถวายคำแนะนำด้านศิลปกรรมแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
พ.ศ.๒๕๐๕ ได้สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในคณะจิตรกรรมประติมากรรมตำแหน่ง อาจารย์และได้เลื่อนเป็นอาจารย์เอกใน พ.ศ.๒๕๑๗ ได้ลาออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวในระยะหนึ่งและได้กลับเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีก ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ต่อมา
พ.ศ.๒๕๒๓ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ ๗ ภาควิชาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ท่านได้เกษียณอายุราชการแล้วประกอบอาชีพเป็นศิลปินอิสระนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งเสียชีวิต