31 สิงหาคม 2552

พู่กันอาวุธประจำกายนักศิลปะ

พู่กัน (Brush)
พู่กันเป็นอุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยให้งานศิลปะ ได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ การเลือกพู่กันที่ดี ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสีจะทำให้สามารถสนองตอบความรู้สึก อารมณ์ ของศิลปิน พู่กันแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งพู่กันที่ดี (Raphael และ Pyramid ) จะได้รับความพิถีพิถันในการเลือกขนเพื่อมาทำพู่กัน ให้เหมาะสมกับพู่กันแต่ละประเภท
พู่กันสีน้ำพู่กันสีน้ำที่ดีควรมีลักษณะขนที่อ่อนนุ่ม สามารถอุ้มน้ำ อุ้มสี ได้มาก มีการคืนตัวที่ดี มีแรงสปริง และแรงดีดพอสมควร ทำจากขนสัตว์ ขนสัตว์ สำหรับสีน้ำ
ขนนก Petit Gris เป็นขนที่ดีที่สุดในการทำนำมาทำพู่กัน มีคุณสมบัติที่ไม่ดูดซับสีมากเกินไป เนื้อขนที่ละเอียด อ่อนนุ่มและพลิ้วไหว โปร่งเบา ลักษณะขนสีน้ำตาล Kazan,สีน้ำเงิน,สีทอง ได้รับการเลือกมาทำพู่กันมากที่สุด
ขน Red Sable มีลักษณะขนสีทองอมน้ำตาลแดง มีคุณสมบัติพิเศษในการอุ้มสีได้ดีเยี่ยม และมีการตอบสนองที่ไม่สามารถหาที่เปรียบได้ มีความสามารถในการคืนตัว และความยึดหยุ่น มีความหนาของขนทำให้มีคุณสมบัติในการดีดตัว
ขน Kolinsky และ Red Sable เป็นขนที่มาจากแถบไซบีเรีย จึงมีคุณสมบัติในการขยายตัวซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ และ “ในปัจจุบัน Raphael เป็นพู่กันเพียงยี่ห้อเดียวที่ใช้ขน Kolinsky มาผลิตพู่กัน” ขนกระรอก เป็นขนที่มีลักษณะขนไม่อ่อนนุ่มมากนัก แต่ก็สามารถอุ้มสี และอุ้มน้ำได้ดี ขนกระต่าย เป็นขนที่มีลักษณะอ่อนนุ่มมาก สามารถอุ้มน้ำ และอุ้มสีได้มาก
ขน Pony เป็นขนที่มีลักษณะไม่อ่อนนุ่มมาก แต่สามารถอุ้มน้ำ และอุ้มสีได้มาก
ขน Synthetic สำหรับสีน้ำ ขน Synthetic เป็นขนที่มีความอ่อนนุ่ม และมีความยึดหยุ่นดี ถึงแม้จะไม่สามารถดูดซับสี และน้ำได้ดีเท่ากับขนจากธรรมชาติ แต่ก็เลียนแบบในด้านรูปทรงได้ใกล้เคียงที่สุด มีข้อดี คือ ด้านความคงทน และอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่าขนจากธรรมชาติ โดยเฉพาะขนสีทอง และ Raphael ก็เป็นยี่ห้อเดียวที่ผลิตพู่กันโดยใช้ขน Synthetic พู่กันสีน้ำมัน พู่กันสีน้ำมันทีดีควรมีลักษณะขนพู่กันที่แข็ง เพราะต้องสามารถรองรับ และทนต่อความหนา ความหนักของสีและมีเดียมต่างๆของสีน้ำมันได้ พร้อมทั้งต้องมีแรงสปริงตัว คืนกลับเข้าที่เดิมได้ดี ทำจากขนสัตว์ ขนหมู ( Hog Bristles ) มีลักษณะขนที่แข็งเป็นเส้น ปลายขนจะแยกเป็นแฉก สามารถรองรับน้ำหนักของสี และ มีเดียม และมีแรงสปริงคืนตัวได้ดี ขนสังเคราะห์ สำหรับงานสีน้ำ และสีอคริลิค ขน Synthetic เป็นขนสังเคราะห์ที่มีปลายขนสีเข้ม และแหลม เป็นใยสังเคราะห์ที่ดีที่สุด มีความยึดหยุ่นสูง, มีความคงทน มีแรงสปริงตัวที่ดี และอ่อนพริ้ว ขนไนลอน หรือขนสังเคราะห์ 3 ชนิด เป็นขนที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว คือสามารถอุ้มสีได้มาก และมีแรงสปริงตัวกลับคืนสูง “Pyramid เป็นพู่กันที่ผลิตโดยใช้ขนสังเคราะห์ 3 ประเภทในการผลิตพู่กัน 1 ด้าม” ขน Golden Taklon เป็นขนสังเคราะห์พิเศษ ขนมีสีทอง สามารถอุ้มสี และอุ้มน้ำได้มาก มีความยึดหยุ่นสูง ความแข็งแรงของขนทำให้สามารถรองรับน้ำหนักของสีได้ดี “Pyramid เป็นยี่ห้อเดียวที่ผลิตพู่กันจากขน Golden Taklon ในการผลิตพู่กัน”
การดูแลรักษา ทำความสะอาดพู่กัน
การดูแลพู่กันอย่างดีก็จะทำให้พู่กันมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากระบายสีเสร็จ อย่าใส่พู่กันลงในภาชนะใส่น้ำในลักษณะเอาขนพู่กันแช่ลงไป เพราะจะทำให้ขนพู่กันเสียรูปทรง ล้างพู่กันให้สะอาดเมื่อเลิกใช้ในแต่ละวัน
วิธีทำความสะอาดพู่กันสีน้ำและสีอคริลิค
1. ล้างพู่กันด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำอุ่น
2. ล้างด้วยสบู่เหลวอีกครั้ง
3. ล้างสบู่ออกด้วยการล้างกับน้ำก๊อกเปิดไหลอ่อนๆ โดยขยี้เบาๆในฝ่ามือ
4. จัดขนพู่กันให้เรียบร้อย เช็ดด้ามให้แห้งแล้ววางไว้บนผ้านุ่มๆ
5. เก็บพู่กันโดยเอาด้ามพู่กันลง
วิธีทำความสะอาดพู่กันสีน้ำมัน
1. ใช้ผ้าเช็ดสีที่เหลือค้างที่ขนพู่กัน
2. ล้างพู่กันด้วยน้ำมัน Turpentine
3. ล้างด้วยน้ำอุ่นอีกครั้ง แล้วล้างด้วยสบู่เหลว จนหมดคราบสี
4. ล้างสบู่ออกด้วยการล้างกับน้ำก๊อกเปิดไหลอ่อนๆโดยขยี้เบาๆในฝ่ามือ
5. จัดขนพู่กันให้เรียบร้อย เช็ดด้ามให้แห้งแล้ววางไว้บนผ้านุ่มๆ
6. เก็บพู่กันโดยเอาด้ามพู่กันลง

ศัพท์ศิลปะ

โครงสร้างเคลื่อนไหว (mobile) เป็นงานประติมากรรมที่มีโครงสร้างบอบบางจัดสมดุลด้วยเส้นลวดแข็งบาง ๆ ที่มีวัตถุรูปร่าง รูปทรงต่าง ๆ ที่ออกแบบเชื่อมติดกับเส้นลวด เป็นเครื่องแขวนที่เคลื่อนไหวได้ด้วยกระแสลมเพียงเบา ๆ
งานสื่อผสม (mixed media) เป็นงานออกแบบทางทัศนศิลป์ที่ประกอบด้วยหลายสื่อโดยใช้วัสดุหลาย ๆ แบบ เช่น กระดาษ ไม้ โลหะ สร้างความผสมกลมกลืนด้วยการสร้างสรรค์
จังหวะ (rhythm) เป็นความสัมพันธ์ของทัศนธาตุ เช่น เส้น สี รูปร่าง รูปทรง น้ำหนักในลักษณะของการซ้ำกัน สลับไปมา หรือลักษณะลื่นไหล เคลื่อนไหวไม่ขาดระยะจังหวะที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันจะช่วยเน้นให้เกิดความเด่น หรือทางดนตรีก็คือการซ้ำกันของเสียงในช่วงเท่ากันหรือแตกต่างกันจังหวะให้ความรู้สึกหรือความพอใจทางสุนทรียภาพในงานศิลปะ
ทัศนธาตุ (visual elements) สิ่งที่เป็นปัจจัยของการมองเห็นเป็นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพ ได้แก่ เส้น น้ำหนัก ที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง สี และลักษณะพื้นผิว
ทัศนียภาพ (perspective) วิธีเขียนภาพของวัตถุให้มองเห็นว่ามีระยะใกล้ไกล
ทัศนศิลป์ (visual art) ศิลปะที่รับรู้ได้ด้วยการเห็น ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่รับรู้ด้วยการเห็น
ภาพปะติด (collage) เป็นภาพที่ทำขึ้นด้วยการใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ ผ้า เศษวัสดุธรรมชาติ ฯลฯ ปะติดลงบนแผ่นภาพด้วยกาวหรือแป้งเปียก
วงสีธรรมชาติ (color circle) คือวงกลมซึ่งจัดระบบสีในแสงสีรุ้งที่เรียงกันอยู่ในธรรมชาติ สีวรรณะอุ่น จะอยู่ในซีกที่มีสีแดงและเหลือง ส่วนสีวรรณะเย็นอยู่ในซีกที่มีสีเขียว และสีม่วง สีคู่ตรงข้ามกันจะอยู่ตรงกันข้ามในวงสี
วรรณะสี (tone) ลักษณะของสีที่แบ่งตามความรู้สึกอุ่นหรือเย็น เช่น สีแดง อยู่ในวรรณะอุ่น (warm tone) สีเขียวอยู่ในวรรณะเย็น (cool tone)
สีคู่ตรงข้าม (complementary colors) สีที่อยู่ตรงกันข้ามกันในวงสีธรรมชาติเป็นคู่สีกัน คือ สีคู่ที่ตัดกันหรือต่างจากกันมากที่สุด เช่น สีแดงกับสีเขียว สีเหลืองกับสีม่วง สีน้ำเงินกับสีส้ม
องค์ประกอบศิลป์ (composition of art) วิชาหรือทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสร้างรูปทรงในงานทัศนศิลป์

ชนิดของสี

สีน้ำ WATER COLOUR สีน้ำ เป็น สีที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ทั้งในแถบยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่นซึ่งมีความสามารถในการระบายสีน้ำ แต่ในอดีตการระบายสีน้ำมักใช้เพียงสีเดียว คือ สีดำผู้ที่จะระบายได้อย่างสวยงาม จะต้องมีทักษะการใช้พู่กันที่สูงมาก การระบายสีน้ำจะใช้น้ำ เป็นส่วนผสม และทำละลายให้เจือจาง ในการใช้สีน้ำ ไม่นิยมใช้สีขาวผสม เพื่อให้มีน้ำหนัก อ่อนลง และไม่นิยมใช้สีดำผสมใ ห้มีน้ำหนักเข้มขึ้น เพราะจะทำให้เกิดน้ำหนัก มืดเกินไป แต่จะใช้สีกลาง หรือ สีตรงข้ามผสมแทน ลักษณะของภาพวาดสีน้ำ จะมีลักษณะใส บาง และ สะอาด การระบายสีน้ำต้องใช้ความชำนาญสูง เพราะผิดพลาดแล้วจะแก้ไขยาก จะระบายซ้ำ ๆ ทับกันมาก ๆ ไม่ได้ เพราะจะทำให้ภาพออกมามีสีขุ่น ๆ ไม่น่าดู หรือที่เรียกว่า สีเน่า สีน้ำที่มีจำหน่าย ในปัจจุบัน จะบรรจุในหลอด เป็นเนื้อสีฝุ่นที่ผสมกับกาวอะราบิค ซึ่งเป็นกาวที่สามารถละลาย น้ำได้ มีทั้งลักษณะที่โปร่งแสง ( Transparent ) และกึ่งทึบแสง ( Semi-Opaque ) ซึ่งจะมีระบุ ไว้ข้างหลอด สีน้ำนิยมระบายบนกระดาษที่มีผิว ขรุขระ หยาบ
สีโปสเตอร์ POSTER COLOUR สีโปสเตอร์ เป็นสีชนิด สีฝุ่น (Tempera) ที่ผสมกาวน้ำ บรรจุเสร็จเป็นขวด การใช้งานเหมือนกับสีน้ำ คือใช้น้ำเป็นตัวผสมให้เจือจาง สีโปสเตอร์เป็นสีทึบแสง มีเนื้อสีข้น สามารถระบายให้มีเนื้อเรียบได้ และผสมสีขาวให้มีน้ำหนักอ่อนลงได้เหมือนกับสีน้ำมัน หรือสีอะครีลิค สามารถ ระบายสีทับกันได้ มักใช้ในการวาดภาพ ภาพประกอบเรื่อง ในงานออกแบบ ต่าง ๆ ได้สะดวก ในขวดสีโปสเตอร์มีส่วนผสมของกลีเซอรีน จะทำให้แห้งเร็ว
สีชอล์ค PASTEL สีชอล์ค เป็นสีฝุ่นผงละเอียดบริสุทธิ์นำมาอัดเป็นแท่ง ใช้ในการวาดภาพ มากว่า 250 ปีแล้วปัจจุบัน มีการผสมขี้ผึ้งหรือกาวยางไม้เข้าไป แล้วอัดเป็นแท่งในลักษณะของดินสอสี แต่มีเนื้อละเอียดกว่า แท่งใหญ่กว่า และมีราคาแพงกว่ามาก มักใช้ในการวาดภาพเหมือน
สีฝุ่น TEMPERA สีฝุ่น เป็นสีเริ่มแรกของมนุษย์ ได้มาจากธรรมชาติเช่น ดิน หิน แร่ธาตุ พืช สัตว์ นำมาทำให้ละเอียดเป็นผง ผสมกาว และน้ำ กาว ทำมาจากหนังสัตว์ กระดูกสัตว์ สำหรับช่างจิตรกรรมไทยใช้ ยางมะขวิด หรือกาวกระถิน ซึ่งเป็นตัวช่วยให้สีเกาะติดพื้นผิวหน้าวัตถุไม่หลุดได้โดยง่าย ในยุโรปนิยมเขียนสีฝุ่น โดยผสมกับกาวยาง กาวน้ำ หรือ ไข่ขาว สีฝุ่น เป็นสีที่มีลักษณะ ทึบแสง มีเนื้อสีค่อนข้างหนา เขียนสีทับ กันได้ สีฝุ่นมักใช้ในการเขียนภาพทั่วไป โดยเฉพาะภาพฝาผนัง ในสมัยหนึ่งนิยมเขียนภาพผาฝนัง ที่เรียกว่า สีปูนเปียก (Fresco)โดยใช้สีฝุ่นเขียนในขณะที่ปูนที่ฉาบผนังยังไม่แห้งดี เนื้อสีจะซึมเข้าไป ในเนื้อปูน ทำให้ภาพไม่หลุดลอกง่าย สีฝุ่นในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นผง เมื่อใช้งานจะนำมาผสมกับน้ำโดย ไม่ต้องผสมกาว เนื่องจากในกระบวนการผลิตได้ทำการผสมมาแล้ว การใช้งานหมือนกับสีโปสเตอร์
ดินสอสี CRAYON ดินสอสี เป็นสีผงละเอียด ผสมกับขี้ผึ้ง หรือไขสัตว์ นำมาอัดให้เป็นแท่งอยู่ในลักษณะของดินสอ เพื่อให้เหมาะสำหรับเด็ก ๆ ใช้งาน มีลักษณะคล้ายกับสีชอล์ค แต่เป็นสีที่มีราคาถูก เนื่องจากมีส่วนผสม อื่น ๆ ปะปนอยู่มาก มีเนื้อสีน้อยกว่า ปัจจุบัน มีการพัฒนาให้สามารถละลายน้ำ หรือน้ำมันได้ โดยเมื่อใช้ดินสอสีระบายสีแล้ว นำพู่กันจุ่มน้ำมาระบายต่อ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับภาพสีน้ำ ( Aquarelle ) บางชนิด สามารถละลายได้ในน้ำมัน ซึ่งทำให้กันน้ำได้
สีเทียน OIL PASTEL สีเทียน หรือ สีเทียนน้ำมัน เป็นสีฝุ่นผงละเอียด ผสมกับไขมันสัตว์ หรือขี้ผึ้ง แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง มีลักษณะทึบแสง สามารถเขียนทับกันได้ การใช้สีอ่อนทับสีเข้ม จะมองเห็นพื้นสีเดิมอยู่บ้าง การผสมสี อื่น ๆ ใช้การเขียนทับกัน สีเทียนน้ำมันมักไม่เกาะติดพื้น สามารถขูดสีออกได้ และกันน้ำ ถ้าต้องการให้สีติดแน่นทนนาน จะมีสารพ่นเคลือบผิวหน้าสี สีเทียนหรือ สีเทียนน้ำมัน มักใช้เป็นสีฝึกหัดสำหรับเด็ก เนื่องจากใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน และมีราคาถูก
สีอะครีลิค Acrylic COLOUR สีอะครีลิค เป็นสีที่มีส่วนผสมของ สารพลาสติกโพลีเมอร์ ( Polymer) จำพวก อะครีลิค ( Acrylic ) หรือ ไวนิล ( Vinyl ) เป็นสีที่มีการผลิตขึ้นมาใหม่ล่าสุด วลาจะใช้ นำมาผสมกับน้ำ ใช้งานได้เหมือนกับสีน้ำ และสีน้ำมัน มีทั้งแบบโปร่งแสง และทึบแสง แต่จะแห้งเร็วกว่าสีน้ำมัน 1 - 6 ชั่วโมง เมื่อแห้งแล้ว จะมีคุณสมบัติกันน้ำได้ และเป็นสีที่ติดแน่นทนนาน คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ ยึดเกาะติดผิวหน้าวัตถุได้ดี เมื่อระบายสีแล้ว อาจใช้ น้ำยาวานิช ( Vanish ) เคลือบผิวหน้า เพื่อป้องกันการขูดขีด เพื่อให้คงทนมากยิ่งขึ้น สีอะครีลิคที่ใช้วาดภาพ บรรจุในหลอด มีราคาค่อนข้างแพง
สีน้ำมัน OIL COLOUR สีน้ำมัน ผลิตจากการผสมของสีฝุ่น กับ น้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันลินสีด ( Linseed ) ซึ่งกลั่นมาจาก ต้นแฟลกซ์ หรือน้ำมันจาก เมล็ดป๊อบปี้ สีน้ำมันเป็นสีทึบแสง เวลาระบาย มักใช้ สีขาว ผสมให้ได้น้ำหนัก อ่อน แก่ งานวาดภาพสีน้ำมัน มักเขียนลงบนผ้าใบ (Canvas ) มีความคงทนมาก และ กันน้ำ ศิลปิน รู้จักใช้สีน้ำมัน วาดภาพมาหลายร้อยปีแล้ว การวาดภาพสีน้ำมัน อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือ เป็นปีก็ได้ เนื่องจากสีน้ำมัน แห้งช้ามาก ทำให้ไม่ต้องรีบร้อน สามารถวาดภาพสีน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ ๆ และสามารถแก้ไขงาน ด้วยการเขียนทับ งานเดิม สีน้ำมันสำหรับเขียนภาพ จะบรรจุในหลอด ซึ่งมีราคา สูง ต่ำ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ การใช้งานจะผสมด้วยน้ำมันลินสีด ซึ่งจะทำให้เหนียว และเป็นมัน แต่ถ้าใช้ น้ำมันสน จะทำให้แห้งเร็วขึ้น และสีด้าน พู่กันที่ใช้ระบายสีน้ำมัน เป็นพู่กันแบน ที่มีขนแข็ง ๆ สีน้ำมัน เป็นสีที่ศิลปินส่วนใหญ่ นิยมใช้วาดภาพ มาตั้งแต่สมัย เรอเนซองส์ ยุคปลาย

ศิลปินแห่งชาติ

นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๖๕ เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญในด้านประติมกรรม ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะและทั่วไป ได้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมทั้งที่เป็นงานศิลปะแบบปัจจุบันและประเพณีไว้มากมาย ได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองหลายครั้งและได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าปฏิบัติราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๘ ได้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณจนเกษียณอายุราชการ ผลงานประติมากรรมมีแสดงถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทั้งในประเทศและต่างประเทศผลงานประติมากรรมแบบปัจจุบันเป็นผลงานบุกเบิกในแนวทางสัจจะนิยมของประเทศไทยและผลงานประเพณีเป็นการอนุรักษ์และสืบต่อศิลปะแบบประเพณีของชาติ ในด้านวิชาการนั้นได้เป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรมในยุคบุกเบิกและก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๖ และยังทำหน้าที่นี้อยู่ในฐานะอาจารย์พิเศษ ด้วยบทบาทที่สำคัญในด้านวิชาการนี้ จึงได้รับปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยความสามารถดีเด่น จึงได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙
ถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาชั้นมูลและระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้นถวัลย์ได้รับทุนมาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ีผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ี 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะคำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมดเขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger (ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนีเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูป ถูกนักเรียนกรีดทำลายด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ ก็ต้องใช้เวลานานถึงสามสิบกว่าปี ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ท่านได้สร้างผลงานถาวรไว้หลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จิตรกรรม ฝาผนังสถานเอกอัครราชทูตไทยในบัวโนสไอเรส กรุงเวียนนาและกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพ ฯ บ้านพักเคแอลเอ็ม อาคารเชลล์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร พระตำหนักดอยตุง เชียงราย ปราสาทคร็อททอร์ฟในเยอรมัน ตราประจำตระกูลของบุคคลสำคัญในยุโรป ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา หอศิลป์ส่วนตัวที่เชียงราย ศาลาไทยที่ศูนย์วัฒนธรรมไทย ประเทศเยอรมนี ท่านได้รับเชิญเป็นศิลปินที่พำนักชั่วคราวในอิสราเอล เยอรมนี อเมริกา ตรุกี ญี่ปุ่น และสอนศิลปะชั้นสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เคยได้รับเหรียญทองสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมจากสมาคมสถาปนิกสยาม ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อพ.ศ. 2544 ปัจจุบันถวัลย์ ดัชนี เป็นศิลปินอิสระ มีบ้านพักอยู่ในเขตตัวเมืองเชียงรายนายทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ท่านได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ รวมอายุได้ 66 ปี นายทวีเป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญทางด้านจิตรกรรมซึ่งคนในวงการศิลปะยอมรับนับถือโดยทั่วไป เนื่องจากท่านได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมไว้เป็นจำนวนมาก เคยได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองหลายครั้ง รางวัลสูงสุดอันดับหนึ่งของท่านคือ ศิลปินชั้นเยี่ยมจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาตินอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกงานจิตรกรรมที่มีอิทธิพลแก่ยุวศิลปินอีกหลายคน
ด้านวิชาการ นายทวีเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ผลงานทางศิลปะของได้พัฒนาและคลี่คลายอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ถือเป็น คุณลักษณะพิเศษ ในงานของนายทวี คือการผสมผสานระหว่างแบบเหมือนจริงกับแบบเหนือจริงตามแบบของตนเองอย่างอิสระผลงานของนายทวีจึงไม่ผาดโผน ทว่าเป็นไปอย่างเรียบ ๆ ประณีต ลึกซึ่ง มีสมาธิ วุฒิภาวะ และความมั่นใจ
นายทวี นันทขว้าง เริ่มเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๖ – ๒๔๘๐ จนสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากนั้นในระหว่าง พ.ศ .๒๔๘๐ – ๒๔๘๖ เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดลำพูน ๖ ปี โดยสำเร็จชั้นมัธยมศึกษา ในปี พ.ศ .๒๔๘๘ – ๒๔๙๑ ศึกษาต่อที่ Academy of Fine Arts of Rome และสำเร็จการศึกษาขั้น DIPOMA ACADEMIA DI BELLE ART DI ROMA
นายทวี นันทขว้าง เริ่มงานโดยเป็นครูชั้นตรีสอนที่โรงเรียนเพาะช่างในช่วงปี
พ.ศ .๒๔๙๒ – ๒๔๙๖ ในพ.ศ. ๒๔๙๗ ประจำแผนกเผยแพร่และประกวด กองส่งเสริมและเผยแพร่กรมการข้าว พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยศิลปกรให้เป็นผู้ถวายคำแนะนำด้านศิลปกรรมแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
พ.ศ.๒๕๐๕ ได้สอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในคณะจิตรกรรมประติมากรรมตำแหน่ง อาจารย์และได้เลื่อนเป็นอาจารย์เอกใน พ.ศ.๒๕๑๗ ได้ลาออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวในระยะหนึ่งและได้กลับเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีก ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ต่อมา
พ.ศ.๒๕๒๓ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ ๗ ภาควิชาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ท่านได้เกษียณอายุราชการแล้วประกอบอาชีพเป็นศิลปินอิสระนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งเสียชีวิต

27 สิงหาคม 2552

พระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาศิลปไทยจากพระเทวาภินิมมิต และศิลปินอาวุโสได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อร่วมปฏิสันถาร ถวายคำปรึกษาแด่พระองค์ มีหลายคนดังนี้คือ ครูเหม เวชกร, เขียน ยิ้มศิริ, จำรัส เกียรติก้อง, เฟื้อ หริพิทักษ์, ไพทูรณ์ เมืองสมบูรณ์, จุลทัศน์ พยาฆรานนท์, เฉลิม นาคีรักษ์, อวบ สาณะเสน และพิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ครั้งที่ประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี พ.ศ. 2480 - 2484 โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนจากตำราที่ทรงซื้อ และมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย และเมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงาน จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์ของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี ผลงานจิตรกรรมซึ่งทรงเขียนภาพเหมือนในยุคแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2502 - 2503 ทรงศึกษาความถูกต้องจากต้นแบบ และใช้ฝีแปรงระบายแสงเงาอย่างนุ่มนวล บรรยากาศและท่าทางของแบบที่จัดวางจะเป็นภาพด้านหน้า และด้านข้างตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเขียนภาพที่มีลักษณะเป็นภาพนามธรรมมากขึ้น เช่น ภาพมือแดง และในระยะต่อ ๆ มา ทรงเขียนภาพผสมผสานระหว่างข้อมูลที่ทรงเห็นจากธรรมชาติกับพระราชดำริส่วนพระองค์ จนเกิดเป็นรูปทรงของสิ่งที่ทรงเห็น แต่มีการตัดทอนพิ่มเติมตามแนวความคิดส่วนพระองค์ จนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ขึ้น เมือ่ได้เห็นผลงานก็จะนึกถึงที่มาของเรื่องราวได้ และที่ยังคงมีอยู่ก็คือเรื่องราวเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับคนและใบหน้า และเริ่มมีบางภาพที่มีรูปร่างของคนเต็มตัว เทคนิคในการเขียนภาพที่เคยใช้ฝีแปรงนุ่มนวลเปลี่ยนแปลงไป ทรงเขียนสีน้ำมันทับซ้อนหนาเป็นก้อน และใช้ฝีแปรงที่มีความเคลื่อนไหวฉับพลันมากขึ้น การแสดงออกของสีเปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริง มีลักษณะส่วนตัวมากขึ้น การตัดทอนโครงเส้นเกิดขึ้นตามจินตนาการ และการเขียนภาพกึ่งนามธรรมนั้น ภาพแต่ละภาพจะมีเนื้อหาตามความคิดของพระองค์เป็นแนวทางกำหนด องค์ประกอบของเส้น รูปทรง และสี ที่ทรงใช้จะสอดคล้องตามแนวคิดของภาพนั้นๆ

ศิลปินของโลก

โอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) เป็นชาวอิตาลี (เกิดที่เมืองวินชี วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 1995 (ค.ศ. 1452) - เสียชีวิตที่เมืองออมบัวซ์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2062 (ค.ศ. 1519)) เป็นอัจฉริยบุคคลที่มีความสามารถหลากหลาย เป็นทั้ง สถาปนิกแบบเรอเนซองส์ นักดนตรี นักกายวิภาค นักประดิษฐ์ วิศวกร ประติมากร นักเรขาคณิต นักวาดภาพ. ดา วินชี มีงานศิลปะที่มีชื่อเสียงหลายชิ้น เช่น อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) และ โมนา ลิซ่า (Mona Lisa) งานของ ดา วินชี ยังสร้างคุณประโยชน์กับวิชากายวิภาคศาสตร์ ดาราศาสตร์ รวมถึงวิศวกรรมโยธา ด้วยความที่เป็นบุรุษที่มีจิตวิญญาณที่รักในศาสตร์หลายแขนง เลโอนาร์โดทำให้เกิดจิตวิญญาณของสหวิทยาการในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และกลายเป็นบุคคลสำคัญของยุคนั้นชีวประวัติเลโอนาร์โด เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน โดยที่ๆเขาเกิดอยู่ห่างจากหมู่บ้านวินชี ในประเทศอิตาลี ไปราวสองกิโลเมตร บิดาชื่อนายแซร์ ปีเอโร ดา วินชี เป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารของรัฐ มารดาชื่อคาตารีนา เป็นสาวชาวนา เคยมีคนอ้างว่านางคาตารีนาเป็นทาสสาวจากประเทศแถบตะวันออกในครอบครองของปีเอโร แต่ก็ไม่มีหลักฐานเด่นชัดในสมัยนั้นยังไม่มีมาตรฐานการเรียกชื่อและนามสกุลที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในทวีปยุโรป ทำให้ชื่อและนามสกุลของดา วินชี ที่แท้จริงคือ เลโอนาร์โด ดิ แซร์ ปีเอโร ดา วินชี ซึ่งหมายความว่า เลโอนาร์โด บุตรชายของปีเอโร แห่ง วินชี แต่เลโอนาร์โดเองก็มักจะลงลายเซ็นในงานของเขาอย่างง่ายๆว่า เลโอนาร์โด หรือไม่ก็ ข้าเอง เลโอนาร์โด เอกสารสำคัญส่วนใหญ่ระบุว่าผลงานของเขาเป็นของ เลโอนาร์โด โดยไม่มี ดา วินชี พ่วงท้าย ทำให้เข้าใจได้ว่าเขาไม่ได้ใช้นามสกุลของบิดาเนื่องจากเป็นบุตรนอกสมรสนั่นเอง
ออกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) (พ.ศ. 2384 - พ.ศ. 2462) เป็นจิตรกร ชาวฝรั่งเศส บิดาเป็นช่างตัดเสื้อ เป็นบุตรคนที่ 6 จาก 7 คน ต่อมาในอายุ 23 ปี เรอนัวร์สมัครใจที่จะเป็นนักวาดภาพอิสระ เรอนัวร์เป็นจิตรกรที่ประสบความลำบากอยู่มากมาย เพราะเรอนัวร์เป็นผู้ที่ชอบวาดภาพเปลือย ในช่วง 1890 เป็นต้นไป เรอนัวร์จะวาดภาพเปลือยอย่างอิสระ ในช่วงที่เป็นไขข้ออักเสบ ถึงจะนั่งรถเข็นหรือเอาพู่กันมาติดมือข้างแข็งไว้ก็ตาม เขาก็ให้คนอื่นระบายภาพให้ คำว่า "ดอกไม้" คือคำสุดท้ายที่เรอนัวร์ได้พูดก่อนที่จะเสียชีวิตในขณะที่เขาจัดแบบที่เขาเขียน เรอนัวร์ได้เสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2462
ซัลวาดอร์ โดมิงโก เฟลีเป คาซินโต ดาลี โดเมเนช (Salvador Domingo Felipe Jacinto Dalí Doménech) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 – 23 มกราคม พ.ศ. 2532) เป็นจิตรกรชาวสเปน มีชื่อเสียงจากผลงานภาพวาดแนวเหนือจริง ดาลีเป็นลูกชายคนเดียวของบ้าน เนื่องจากก่อนที่เขาจะเกิดไม่นาน พี่ชายของเขาได้เสียชีวิตลง ทำให้พ่อและแม่ รักและหวงแหนเขามาก เขามีงานแสดงศิลปะตอนอายุ 14 ปีที่บ้านของเขาเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ เขาศึกษาศิลปะที่โรงเรียนสอนศิลปะแห่งหนึ่งในกรุงมาดริด แต่ว่าไม่เคยเข้าสอบเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะเขาคิดว่าไม่มีใครสามารถตัดสิน "ศิลปะ" ได้ และเขาก็ไม่ใส่ใจด้วยถึงแม้ว่าจะโดนไล่ออกถึงสองครั้งก็ตาม (ช่วงนี้ได้พบกับ กาเซีย ลอกา ซึ่งต่อมากลายเป็นกวีเอกคนนึงของสเปน) เขาทำทุกอย่างเพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบของต้วเอง เมื่อดาลี อายุได้ 20 ปี โดนจับข้อหาทางการเมือง อีก 5 ปีต่อมา ได้เข้าร่วมกับศิลปินกลุ่ม Surrealism มุ่งหมายเน้นความเพ้อฝันเหนือจริง และช่วงนี้เองที่เขาได้พบกับ ปาโบล ปีกัสโซ จิตรกรเอกอีกคนหนึ่ง ช่วงนี้เองที่ดาลีได้อยู่กินกับกาลา (Gala) ที่เป็นทั้งเพื่อนคู่คิด นางแบบและมีงานทำนิตยสารด้วยกัน ช่วงอายุที่ได้ 34 ปีการเขียนรูปของดาลีเริ่มพัฒนาจนกลายมาเก็นแนวที่เห็นกันในปัจจุบัน เช่น รูป Sublime Moment และรูป The Transparent Simulacrum Of The Forged Lmage ที่ถูกเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2481 ดาลี ออกไปอยู่ที่อเมริกานานถึง 8 ปี ปี พ.ศ. 2498 เริ่มเขียนงานแนวศาสนา เช่นภาพ Crucifixion (จะสังเกตุได้ว่าเขาเริ่มเบนมาทำงานแนวศาสนาประมาณปี พ.ศ. 2495) ซึ่งก็เป็นเหตุให้เขาถูกขับออกจากกลุ่ม Surrealism (แต่ดาลีบอกว่าเขานี่แหละคือ Surrealism) กาลา ภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2525 ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ดาลี ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลว รวมอายุได้ 85 ปี ซัลวาดอร์ ดาลี ได้เป็นแบบอย่างให้กั ศิลปินรุ่นหลังหลายต่อหลายคน ด้วยความที่งานของเขามีอัตตาดิบอยู่สูงและความที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ในการเขียนรูป ซัลวาดอร์ ดาลี ได้เป็นคนออกแบบสัญลักษณ์ Chupa Chups อมยิ้มที่มีขายในปัจจุบันไว้ด้วย รวมถึงสิ่งของอีกหลายอย่างในสตูดิโอของเขาเอง
ฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์ (อ่านตามการออกเสียงแบบ ภาษาดัตช์ ชื่อเต็ม Vincent Willem van Gogh เกิด 30 มีนาคม ค.ศ. 1853 – 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1890) แต่คนไทยโดยทั่วไปมักจะชินกับชื่อ วินเซ้นต์ แวน โก๊ะ มากกว่า ฟาน ก็อกฮ์ เกิดที่ เมืองบราบัง ตำบลซันเดิร์ต ประเทศฮอลแลนด์ (เป็นเมืองที่ติดกับชายแดน เบลเยียม)ในปี 1853 วันที่ 30 มีนา มีพ่อเป็นนักบวช ในศาสนาคริสต์ มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 6 คน เป็นชนชั้นกลางที่มีชีวิตแบบแคบๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เขาเป็นเด็กหนุ่มที่ดูเงอะงะ ไม่คล่องแคล่วเหมือนคนมีปมด้อย ค่อนข้างใจน้อย จึงชอบอยู่คนเดียว และมีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย อ่อนโยน มีความเมตตาต่อคนทุกข์ยาก ทำให้ทุกคนมองเขาว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ น่ารำคาญ เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาได้เข้าทำงานที่ ห้องภาพแห่งหนึ่งที่กรุงเฮก กับญาติที่ทำงานด้านศิลปะ และเมื่อเขามีอายุได้ 18 ปี เขาก็ถูกส่งตัวไปยังห้องภาพที่ สาขาปารีส ด้วยความที่เขาเป็นคนซื่อ และความเบื่อหน่ายที่ทางห้องภาพเอารูปเลวๆมาหลอกขายกับคนที่ไม่รู้จักศิลปะ เขาถึงกับบอกให้ลูกค้าไม่ให้ซื้อภาพนั้น จนกระทั่งทางร้านไม่พอใจไล่เขาออกจากงานในที่สุด หลังจากนั้น เขาจึงหันไปศึกษาทางศาสนาอย่างจริงจัง หลังจากสอบเข้าวิทยาลัยศาสนาที่นครอัมสเตอร์ดัม ได้ 14 เดือนเขาพบว่าไม่ได้อะไรตามที่เขาตั้งใจจึงเลิกเรียนเสียและได้ย้ายไปอยู่ในเหมืองถ่านหิน ในตำบลบอริเนจ เพื่อเทศนาสั่งสอน ช่วยเหลือคนทุกยาก ในเหมืองนั้น โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาอุทิศเงินจำนวนหนึ่งให้กับคนทุกยากโดยที่ตนเองมีเงินใช้อย่างจำกัด และต้องกินเศษขนมปัง ทำให้ร่างกายผอมลง และเป็น พิษไข้ เพราะการที่บริโภคที่ผิดอนามัย และความหนาวเหน็บจากองไฟกองเล็กที่ไม่อาจสู้กับความหนาวเย็นของอากาศได้ ทำให้ความงกๆเงิ่นๆ ของเขามีมากยิ่งขึ้น ฟาน ก็อกฮ์ เป็นคนที่พูดไม่เก่งทำให้การเทศนาสั่งสอนของเขาไม่อาจจับจิตชาวเหมืองได้ ประกอบกับความใจบุญของเขาทำให้คนเหล่านั้นมอง ว่าเขาเป็นคนแปลกแตกต่างจากคนเหมืองทำให้เขาเศร้าใจมาก และศาลพระก็ไม่ยอมแต่งตั้งให้เขาเป็นนักเทศน์ ในที่สุดชีวิตของเขาต้องเร่ร่อนไปอย่างไร้จุดหมาย เขาไม่ยอมแม้กระทั่งที่จะเขียนจดหมายถึง เธโอ น้องชายคนสนิทจนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1880 เขาได้เขียนจดหมายมาบอกกับ เธโอ น้องของเขาว่า เขาค้นพบแล้วว่า "ศิลปะคือ ทุกสิ่งทุกอย่างของเขา และเข้ามาแทนที่สิ่งอื่นๆจนหมด เขาใช้เวลาเพื่อศึกษามันด้วยตนเองอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นเขาเคยเขียนรูปมามั่งแต่ไม่จริงจังเท่าไหร่ แต่หลังจากนี้ต่อไปมันคือ ชีวิตจิตใจของเขา" (จดหมายที่ ฟาน ก็อกฮ์ เขียนถึงน้องชายของเขา ต่อมาในปัจจุบันก็เป็นที่ต้องการและมีความสำคัญมากต่อการชมงานศิลปะของเขา) ฟาน ก็อกฮ์ ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสายศิลปะ อย่างลำบากยากแค้น เขายิงตัวเองเข้าทางสีข้างด้านซ้าย ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฏาคม ปี 1890 หลังจากการเขียนรูปทางสามแพร่ง (Wheat Field with Crows) (งานชิ้นนี้อาจจะสื่อถึงการหาทางออกให้กับของชีวิตของเขาเอง ที่เปรียบเสมือนทาง 3 สายที่มาบรรจบกันทำให้เลือกไม่ถูกว่าจะไปทางใดต่อ) ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขาที่ทุ่งนา แต่เขาไม่ตายทันที เขาได้เอามือกดปากแผลไว้และเดินกลับมาที่ร้านกาแฟที่เขาพัก ฟาน ก็อกฮ์ สิ้นใจตายในวันอังคารที่ 29 กรกฏา ปี 1890 ท่ามกลางความเศร้าโสกเสียใจของเพื่อนๆ ศพของเขาถูกฝังไว้ในสุสานเล็กๆที่เมืองอูฟเวรซูอีรัว ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นอีก 1 ปีต่อมา เธโอ น้องชายก็สิ้นใจตายตามพี่ชายของเขาเนื่องจากโรคไต ศพของ เธโอ ถูกฝังที่นี่ และในอีก 23 ปีต่อมาภรยาของเธโอ จึงย้ายศพของเขาบางส่วนมาฝังไว้ใกล้ๆศพของ ฟานก็อกฮ์ ในที่สุดพี่น้องที่รักกันมาก ก็ได้มาอยู่ด้วยกันในสุสานเล็กๆที่เมืองอูฟเวร อย่างสงบสุขตลอดกาล
มีเกลันเจโล (Michelangelo, ผู้คนมักเข้าใจผิดเป็น ไมเคิล แองเจลโล) มีชื่อเต็มว่า มีเกลันเจโล ดี โลโดวีโก บัวนาร์โรตี ซีโมนี (Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni, 6 มีนาคม ค.ศ. 1475 - 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564) ศิลปินที่เข้าถึง 3 ศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก เขาไม่เป็นเพียงผู้ที่เข้าถึงแต่เพียงศาสตร์ด้านวิจิตรศิลป์ แต่เขายังเข้าถึงความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรม และประติมากรรมอีกด้วย เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1475 และเติบโตที่เมืองฟลอเรนซ์ ภายหลังเป็นผู้สร้างประติมากรรมหินอ่อนชื่อกระฉ่อนโลกนามว่า เดวิด (David)หลังจากที่ไปอยู่ที่กรุงโรมเมื่ออายุ 21 ปี และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 5 ปี มีเกลันเจโล สร้างประติมากรรมรูปเดวิด ตอนอายุ 26 ปี จากหินอ่อนก้อนมหึมาที่ถูกทิ้งไว้กลางเมืองฟลอเรนซ์เป็นเวลาหลายปี จึงกลายเป็นที่ฮือฮาของชาวเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีใครกล้าพอที่จะแตะต้องมันนั่นเอง ความสำเร็จหลังจากงานชิ้นนี้ ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วอิตาลี มีเกลันเจโลเดิมทีเป็นคนที่เกลียด เลโอนาโด ดาวินชี ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีอายุห่างกันถึง 23 ปี และไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนัก (คล้ายกับ การที่เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้) ในช่วงนี้ (1497-1500) เขาก็ได้สร้างประติมากรรมหินอ่อนอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า ปีเอตะ (Pietà) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวิหารเซนต์ปีเตอร์ (St. Peters Basilica) ที่กรุงโรมตอนอายุได้ 30 ปี เขาได้ถูกเชิญให้กลับมาที่กรุงโรม เพื่อออกแบบหลุมฝังศพให้กับ พระสันตะปาปาจูเลียส ที่ 2 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 ปี หลังจากแก้หลายครั้งหลายครา จนมาสำเร็จในปี 1545 ต่อมาในปี 1546 เขาเป็นสถาปนิกคนสำคัญในการสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม ที่มีความยิ่งใหญ่และงดงามเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลก โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโดมขาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ในกรุงโรม ตลอด 30 ปี ช่วงนี้นั้นเองที่เขาเขียนภาพระดับโลกไว้มากมาย โดยเฉพาะ The Last Judgement(Last Judgment) ซึ่งเขาใช้เวลาในการเขียนภาพขนาดยักษ์นี้นานถึง 6 ปีมีเกลันเจโล บัวนาร์โรตี เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 90 ปี ซึ่งมีคำกล่าวจาก พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ว่า ทรงยินดีบั่นทอนชีวิตของท่านลง เพื่อแลกกับชีวิตของ มิเกลันเจโล ให้ยืนยาวออกไปอีก

ความหมายศิลปะ

ความหมายของคำว่า "ศิลปะ"
ความหมายของคำว่าศิลปะจะแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของแต่ละคน และความคิดอ่านของคนในสังคมแต่ละยุคแต่ความหมายโดยรวมของศิลปะคือ งานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจ งานศิลปะอาจจะสวยงามหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีส่วนเสริมสร้างจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น และศิลปะนั้นอาจแสดงออกมาในรูปที่เป็นศีลธรรมหรือไม่เป็นศีลธรรมก็ได้ - นักปรัชญาโบราณ ถือว่า ศิลปะมีพื้นฐานมาจากความงามและความดี - โสเครตีส เชื่อว่า ศิลปะเป็นความงามที่ได้จากธรรมชาติและต้องมีผลเสริมสร้างทางด้านจิตใจด้วย - ลียอป ตอลสตอย กล่าวว่า ศิลปะที่มีแต่ความประณีต ความงาม ความบันเทิงหาใช่เป็นศิลปะไม่ เป็นแต่เพียงงานฝีมือเท่านั้น เพราะเป็นงานที่ขาดเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งของศิลปะ - เพลโต กล่าวว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และจะต้องมาจากความดีด้วย ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจและนิยมความงามในศิลปะได้มีเพียงนักปรัชญาเท่านั้น - ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เชื่อว่า ศิลปะเป็นสะพานที่เชื่อมคติความเชื่อทางวัตถุกับทางจิตใจ - นักโบราณคดี เห็นว่า ศิลปกรรมย่อมเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญในอดีต และศิลปะย่อมเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ดีที่สุด - นักปรัชญาปัจจุบัน เชื่อว่า ศิลปะคือการสะท้อนความจริงของชีวิตตามที่เป็นอยู่จริง และความแท้จริงนั่นคือความงาม ซึ่งความงามของศิลปะนั้นอาจจะหมายถึงการพรรณนาเรื่องราวในชีวิตทั้งในแง่ดีและไม่ดีก็ได้ - ศิลปิน เห็นว่า ศิลปะคือนามธรรมที่เกิดจากธรรมชาติ โดยต้องมีการสร้างสรรค์ การรู้คุณค่า (Appreciation) คือ การรู้ค่าของจิตรกรรมหรือศิลปกรรมชนิดอื่น ๆ การรู้จักคุณค่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เสมอไป ผู้ที่ไม่มีความรู้เลยอาจจะรู้จักคุณค่าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ดีกว่าคนที่มีความรู้และศึกษามาโดยตรงก็ได้

สีโปสเตอร์

ข้อควรรู้่กี่ยวกับสีโปสเตอร์
เมื่อซื้อสีโปสเตอร์มาใหม่ ให้เปิดขวดใช้ไม้กวนสีในขวดให้ทั่วจนสีเป็นเนื้อเดียวกัน
พู่กันสำหรับสีโปสเตอร์ ใช้ได้ทั้งชนิดปลายกลมและปลายแบน ควรมีขนที่อ่อนนุ่ม พู่กันแบบเบอร์เล็ก เช่น เบอร์ 4,5,6 ใช้เกลี่ยไล่ให้สีกลืนได้ดีในการวาดแบบมีแสงเงา
จานสีที่ใช้ควรเป็นจานสีที่มีหลุมกลมลึก ไม่ควรใช้จานสีที่เป็นช่องสี่เหลี่ยม เพราะเวลาที่กวนสีจะทำให้สีไม่เข้ากันดี เวลาระบายจะทำให้สีด่าง จานสีที่มีสีขาวจะช่วยให้ผสมสีไม่ผิดเพี้ยน
การผสมสีโปสเตอร์ควรผสมน้ำให้พอเหมาะ คือ ไม่ข้นหรือเหลวเกินไป แล้วต้องมีการกวนสีให้มากๆ ไม่ว่าจะใช้สีใดควรมีสีขาวผสมอยู่ด้วย ที่กล่าวมาคือวิธีที่จะทำให้ระบายสีได้เรียบสวยงาม
ถ้าต้องการระบายสีโปสเตอร์ให้เกิดแสงเงามีวิธีระบาย คือลงสีอ่อนก่อนไปหาสีแก่หรือลงสีเข้มแล้วไล่หาสีอ่อน แต่วิธีที่แนะนำคือให้สังเกตหาสีกลาง ระบายสีกลางนั้นก่อนแล้วจึงไล่เงาสีเข้ม ส่วนแสงลงด้วยสีอ่อนเกลี่ยให้กลืนกัน
การใช้ฟองน้ำแทนพู่กัน ใช้ปลายนิ้วบีบฟองน้ำ (สำหรับล้างจาน) ให้แน่นเล็กจะตามต้องการเช็ดให้หมาด แล้วนำไปแตะซ้ำๆ กัน บนภาพตามแสงเงา จะได้ภาพสวยงามไม่แพ้พู่กันกลม (AIR BRUSH)
ในงานที่ไม่พิถีพิถันมากนัก หรือเพื่อความประหยัด ใช้สีโปสเตอร์ผสมน้ำแล้วไปกรองด้วยผ้าสกรีนหรือผ้าอื่น นำไปใช้กับพู่กันกลมได้
ถ้าไม่สามารถเขียนสีโปสเตอร์ให้มีกรอบที่คมชัดได้ ก็ใช้เครื่องทุนแรงช่วย เช่นใส่สีในปากกาตีเส้นปรับขนาดเส้นตามต้องการ หรือใช้กระดาษกาวสำหรับกันสี หาซื้อได้จากร้านเครื่องก่อสร้างนำมากันส่วนที่ไม่ต้องการ หรือ กันสีด้วยแผ่นฟิล์มที่ใช้สำหรับงานพู่กันกลมก็ได้แต่ราคาแพงหน่อย ทางที่ดีนักเรียนนักศึกษาควรฝึกใช้ฝีมือจะดีที่สุด
สีโปสเตอร์ผสมกับปูนพลาสเตอร์ แล้วใช้เกรียงเพนท์บนวัสดุต่างๆ เมื่อแข็งตัวจะได้งานที่นูนสวยงามไม่แพ้สีน้ำมัน เป็นที่ระลึกได้
ถ้าจะประหยัด ใช้สีโปสเตอร์ระบายหรือตกแต่งวัสดุต่างๆ เช่น กระเบื้องไม้ฯลฯ ก็สามารถทำได้ เสร็จแล้วใช้แลคเกอร์สเปย์พ่นทับเสียเพี่อความทนทาน
สีโปสเตอร์นั้นทึบแสง การเขียนภาพแล้วใช้สีโปสเตอร์สีขาว ระบายตกแต่งส่วนที่เป็นแสงจัดหรือส่วนที่เป็นแสงสะท้อนได้อย่างดี แต่อย่าใช้ในงานสีน้ำแนวจิตรกรรม ส่วนงานออกแบบไม่ว่าเป็นสีอะไรก็ทับได้

เทคนิคการแรเงา

การแรเงา คือ การสร้างรอยดินสอ ปากกาหรืออื่นๆ ด้วยการควบคุมน้ำหนักผ่อนหนักเบาในการ ขีด เขียน เกลี่ย ปาด ทับ ไขว้ และใช้รอยเหล่านี้สร้างน้ำหนักให้เกิดลักษณะผิวของธรรมชาติ หรือหุ่นที่ใช้ในการเขียน การแรเงาจึงเป็นการสร้างความเข้มด้วยระยะต่างๆ ในรูปทรงของงานชิ้นหนึ่งๆ เมื่อใช้ตามลักษณะแสงเงาจะทำให้เกิดมิติของมวลสารและระยะ หรือปริมาณมาตรของรูปทรง น้ำหนักที่ไล่เรียงจากอ่อนไปหาแก่อย่างสม่ำเสมอนี้ เรียกว่า ค่า (VALUE) ของสีหรือน้ำหนักที่ระบายเป็นระยะอ่อน กลาง แก่ ค่าของระยะอ่อนแก่เหล่านี้นิยมเรียกกันว่า น้ำหนัก
การแรเงาน้ำหนักจึงเป็นการสร้างเงาในภาพ ให้ดูมีความลึกมีระยะใกล้ไกลและดูมีปริมาตร เปลี่ยนค่าของรูปร่างที่มีเพียง 2 มิติให้เป็น 3 มิติ ทำให้รูปร่างที่มีเพียงความกว้าง-ยาวเปลี่ยนค่าเป็นรูปทรงมีความตื้นลึกหนาบางเกิดขึ้น ความตื้นลึกหนาบางนี่เป็นความรู้สึกเท่านั้น และการทำให้เกิดภาพเช่นนี้ก็คือ เทคนิคในการสร้างภาพลวงตา (ILLUSION) เป็นวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่ง น้ำหนักในการวาดเขียนจึงมีความหมายดังนี้
1. บริเวณมืดและสว่างขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพเขียน
2. แสดงความอ่อนแก่ระดับต่างๆ จากดำมาขาวให้แก่รูปทรงที่มีอยู่ในภาพ นัยหนึ่งคือ ทำหน้าที่แสงเงาให้แก่รูปทรง ลักษณะของน้ำหนัก จะเป็นดังนี้1. มี 2 มิติ คือ กว้างกับยาว
2. มีทิศทาง
3. มีความยาว ความสั้น ความโค้ง หรือเป็นคลื่น ฯลฯ
4. มีรูปร่าง กลม เหลี่ยม หรืออิสระตามลักษณะของรูปทรง
5. มีความอ่อน แก่ และลักษณะผิวต่างๆ ตามแบบหรือหุ่นที่วาด หน้าที่ของน้ำหนัก ในการวาดเขียนจำแนกออกได้ ดังนี้
1. ให้ความแตกต่างระหว่างรูปทรงกับพื้นที่ หรือรูปทรงกับที่ว่าง
2. ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวต่อการนำสายตาผู้ดู บริเวณที่น้ำหนักตัดกันจะดึงดูดความสนใจ ถ้าตัดกันหลายแห่งจะนำสายตาให้เคลื่อนที่จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง ทั้งนี้จะเป็นไปตามจังหวะที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งอาจกลมกลืนหรือตัดกันอย่างรุนแรง
3. ให้ความเป็น 2 มิติ หรือ 3 มิติแก่รูปทรง
4. ให้ความรู้สึกในภาพ ด้วยการประสานกันของน้ำหนัก
5. ให้ความลึกแก่ภาพ แนวคิดในการแรเงาน้ำหนัก เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ เพราะอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ หรือต้นแสงจากแหล่งกำเนิดอื่น เมื่อมีแสงสว่างก็ต้องมีเงาควบอยู่ด้วย และแสงเงาทำให้เรามองเห็นวัตถุที่ผิวสีเดียวกันมีน้ำหนักแตกต่างกัน เช่น วัตถุสีขาวส่วนที่ถูกแสงจะเป็นสีขาวสว่างจ้า แต่ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะขาวหม่น ทั้งที่วัตถุนั้นก็เป็นสีขาวเท่ากันตลอดพื้นผิว เมื่อธรรมชาติของแสงเงาให้ผลที่มองเห็นเช่นนี้ ผู้เขียนจำต้องเข้าใจการจัดน้ำหนักอ่อนแก่ให้ได้ใกล้เคียงกับน้ำหนักของแสงที่ตกกระทบผิววัตถุ เพราะความแตกต่างของน้ำหนักทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกันไปได้ เช่น น้ำหนักสีที่อ่อนให้ความรู้สึกเบา น้ำหนักสีที่แก่ทำให้ดูแล้วรู้สึกหนัก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดระยะต่างๆ ในการมองเห็น ตลอดจนความรู้สึกด้านความงามในทางศิลปะ
เทคนิคการแรเงาน้ำหนักที่นิยมใช้กัน
1. ให้แสงเข้าทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นเงา เป็นวิธีการที่ใช้ในการเขียนภาพเหมือนจริงทั่วไป
2. ให้แสงเข้าตรงหน้า ส่วนที่อยู่ใกล้จะมีน้ำหนักอ่อน ส่วนที่อยู่ไกลจะมีน้ำหนักแก่ น้ำหนักที่ใช้ในวิธีนี้เรียกว่า จิอารอสคูโร (CHIAROSCURO) เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ความสว่างและความมืด อันต่างไปจากการให้ปริมาตรของรูปทรงด้วยการให้แสงเงาทั่วไป
3. กำหนดให้แสงขึ้นจากจุดกลางภาพ ส่วนมากจะใช้แสงเทียนหรือแสงไฟฟ้า
4. ให้แสงเกิดขึ้นในจุดที่ต้องการ ส่วนอื่นให้อยู่ในเงามืด
5. ให้แสงกระจายเลื่อนไหลไปทั่วภาพ เน้นความใกล้ ไกล ลึก ตื้นด้วยบรรยากาศของน้ำหนักจนเกือบไม่คำนึงถึงปริมาตรของรูปทรง
6. ให้น้ำหนักอ่อนทั้งรูปและพื้น ไม่เน้นปริมาตรของรูปทรง แต่เน้นความสว่างของแสงให้จ้า ไม่มีเงา
7. ให้แสงเต้นระริกกระจายไปทั่วๆ ภาพ
ลักษณะของแสงเงาที่ใช้ในการวาดเขียนแบ่งออกเป็น 6 ค่า
1. แสงสว่างที่สุด (HIGH LIGHT) เป็นบริเวณที่วัตถุกระทบแสงโดยตรง ทำให้ส่วนนั้นมีน้ำหนักอ่อนที่สุด ถ้าวัตถุเป็นสีขาวบริเวณนั้นจะปล่อยว่าง ไม่ต้องลงเงาก็ได้
2. แสงสว่าง (LIGHT) เป็นบริเวณที่ไม่ถูกแสงโดยตรง แต่มีบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากแสง การลงน้ำหนักบริเวณนี้ต้องให้อ่อนจางแต่แก่กว่าบริเวณแสงสว่างที่สดุดเล็กน้อย
3. แสงสะท้อน (REFLECTED LIGHT) เป็นบริเวณของวัตถุที่ไม่ได้กระทบแสงโดยตรง หากอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเงาแต่ถูกแสงสะท้อนจากวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ กันมากระทบ น้ำหนักของบริเวณนี้จะอ่อนกว่าบริเวณที่เป็นเงา ค่าของแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกในภาพมีมิติ มีมวลสาร มีชีวิตชีวา ดูเหมือนมีอากาศอยู่รอบๆ
4. เงา (DARK) เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของแสงน้อยมาก ซึ่งเงาบริเวณนี้จะต้องแรเงาให้มีน้ำหนักเข้มกว่าบริเวณแสงสว่างพอประมาณ พอที่จะแยกแสงและเงาออกจากกันได้
5. เงามืด (DARKEST) เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงจึงต้องแรเงาด้วยน้ำหนักที่เข้มกว่าบริเวณอื่นๆ ทั้งหมดของวัตถุ
6. เงาตกทอด (CAST SHADOW) เป็นบริเวณที่เงาของวัตถุนั้นๆ ทอดไปตามพื้นที่รองรับวัตถุ โดยจะมีน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน ขนาดและรูปร่างของเงาตกทอดจะขึ้นอยู่กับทิศทางของแสง รูปร่างของวัตถุและพื้น
เทคนิคการแรเงาน้ำหนัก เมื่อตรวจแก้ไขข้อบกพร่องของภาพร่างดีแล้ว และเป็นภาพร่างที่พร้อมจะแรเงาน้ำหนักการกำหนดแสงเงาบนวัตถุในภาพร่างซึ่งมีรูปทรงต่างๆ นั้น อาจลำดับขั้นตอนของกระบวนการได้ ดังนี้
1. หรี่ตาดูวัตถุที่เป็นหุ่น กำหนดพื้นที่แบ่งส่วนระหว่างแสงเงาออกจากกันให้ชัดเจนด้วยเส้นร่างเบาๆบนรูปทรงของภาพร่างที่วาดไว้นั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคร่าวๆ คือ แสงกับเงาเท่านั้น
2. แรเงาน้ำหนักในส่วนพื้นที่ที่เป็นเงาทั้งหมด ด้วยน้ำหนักเบาที่สุดของเงาที่ตกทอดบนวัตถุ และเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นแสงไว้
3. พิจารณาเปรียบเทียบน้ำหนักที่เบาที่สุดกับน้ำหนักที่เข้มในส่วนขึ้นอีกเท่าใด แล้วแบ่งน้ำหนักเงาที่อ่อนกับเงาที่เข้มขึ้นด้วยวิธีร่างเส้นแบ่งพื้นที่เบาๆ เช่นกันกับข้อ 1 จากนี้ก็แรเงาเพิ่มน้ำหนักในส่วนที่เข้มขึ้น ตลอดเวลาจะต้องเปรียบเทียบน้ำหนักของเงาที่ลงใหม่กับเงาอ่อนและแสงที่เว้นไว้อยู่เสมอเพื่อให้การแรเงาน้ำหนักได้ใกล้เคียงความเป็นจริง การแรเงาน้ำหนักต้องลงรวมๆ ไปทีละน้ำหนัก จะทำให้คุมน้ำหนักได้ง่าย
4. การแรเงาน้ำหนักที่เข้มขึ้นจะใช้วิธีการเดียวกับข้อ 1 และข้อ 3 จนครบกระบวนการ จะทำให้ได้ภาพที่มีน้ำหนักแสงเงาใกล้เคียงกับความเป็นจริงจากนั้นเกลี่ยน้ำหนักที่แบ่งไว้ในเบื้องต้นให้ประสานกลมกลืนกัน
5. พิจารณาในส่วนของแสงที่เว้นไว้ จะเห็นว่ามีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับในส่วนของเงาต้องใช้ดินสอลงน้ำหนักแผ่วๆ ในส่วนของแสงที่เว้นไว้ เพื่อให้รายละเอียดของแสงเงามีน้ำหนักที่สมบูรณ์
6. เงาตกทอด ใช้หลักการเดียวกับการแรเงาน้ำหนักบนวัตถุที่กล่าวมาแล้ว แต่ต้องสังเกตทิศทางของแสงประกอบการเขียนแสงในการวาดเขียนปกติจะใช้ประมาณ 45? -- กับพื้น แต่มีข้อสังเกต คือ ถ้าแสงมาจากมุมที่สูง จะเห็นเงาตกทอดสั้น ถ้าแสงมาจากมุมที่ต่ำลง เงาตกทอดจะยาวขึ้น ในส่วนน้ำหนักของเงาตกทอดเองก็จะมีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับแสงเงาบนวัตถุ คือเงาที่อยู่ใกล้วัตถุจะมีความเข้มกว่าเงาที่ทอดห่างตัววัตถุสาเหตุมาจากแสงสะท้อนรอบๆ ตัววัตถุที่สะท้อนเข้ามาลบเงาให้จางลง
การแรเงาให้เกิดมิติ ใกล้ กลาง ไกล ความอ่อน กลาง แก่ของน้ำหนัก นอกจากจะใช้เพื่อสร้างมิติให้เกิดความรู้สึก สูง ต่ำ หนา บาง แก่ วัตถุในภาพแล้ว น้ำหนักยังใช้สร้างมิติแห่งความรู้สึกด้านระยะใกล้ไกลของวัตถุในภาพอีกด้วย ค่าน้ำหนักถ้าใช้ในการสร้างความรู้สึกด้านมิติแก่วัตถุ ค่าน้ำหนักแก่จะให้ความรู้สึกต่ำหรือลึกลงไป ค่าน้ำหนักที่อ่อนจะให้ความรู้สึกที่สูงหรือนูนขึ้นมา ส่วนในการสร้างความรู้สึกด้านระยะใกล้-ไกล ระยใกล้จะใช้ค่าน้ำหนักแสงเงาที่ชัดเจนกว่าระยะไกล ระยะกลางก็ใช้ค่าน้ำหนักที่อ่อนลง และระยะไกลก็จะแรเงาให้อ่อนที่สุด หรือเน้นรายละเอียด หรือเส้นให้น้อยกว่าระยะกลางและใกล้ นอกจากนี้ การแรเงาน้ำหนักลักษณะของผิววัตถุ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้การวาดเขียนในสิ่งนั้นๆ ดูเหมือนจริงขึ้น หากสามารถถ่ายทอดลักษณะผิวและสีสันของวัตถุออกมาเป็นงานขาว-ดำได้อย่างครบถ้วน ข้อสำคัญควรฝึกการอ่านเปรียบเทียบสีของวัตถุที่ใช้เป็นแบบในการเขียนให้ดีว่า สีใด มีค่าน้ำหนักอ่อนแก่กว่ากันเช่นไร โดยทบทวนจากวิชาทฤษฎีสี เมื่อนำมาวาดเขียนแปลงเป็นภาพขาว-ดำ จะทำให้ได้ความรู้สึกที่เหมือนจริงตามธรรมชาติของสิ่งนั้น และดูดีในฐานะที่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง แต่ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับสภาพของแสง และ เงา ที่จะเป็นตัวแปรในการกำหนดอีกครั้งหนึ่ง

องค์ประกอบทางศิลปะ (ระดับชั้น ม.4,5,6)

การจัดองค์ประกอบทางศิลปะ
การจัดองค์ประกอบทางศิลปะ เป็น หลักสำคัญสำหรับผู้สร้างสรรค์ และผู้ศึกษางานศิลปะ เนื่องจากผลงานศิลปะใด ๆ ก็ตาม ล้วนมีคุณค่าอยู่ 2 ประการ คือ คุณค่าทางด้านรูปทรง และ คุณค่าทางด้านเรื่องราว คุณค่าทางด้านรูปทรง เกิดจากการนำเอา องค์ประกอบต่าง ๆ ของ ศิลปะ อันได้แก่ เส้น สี แสงและเงา รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว ฯลฯ มาจัดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความงาม ซึ่งแนวทางในการนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาจัดรวมกันนั้นเรียกว่า การจัดองค์ ประกอบศิลป์ (Art Composition) โดยมีหลักการจัดตามที่จะกล่าวต่อไป อีกคุณค่าหนึ่งของงานศิลปะ คือ คุณค่าทางด้านเนื้อหา เป็นเรื่องราว หรือสาระของผลงานที่ศิลปินผู้สร้าง สรรค์ต้องการที่จะแสดงออกมา ให้ผู้ชมได้สัมผัส รับรู้ โดยอาศัยรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบศิลป์นั่นเองหรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปิน นำเสนอเนื้อหาเรื่องราวผ่านรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ ถ้าองค์ประกอบที่จัดขึ้น ไม่สัมพันธ์กับเนื้อหาเรื่องราวที่นำเสนอ งานศิลปะนั้นก็จะขาดคุณค่าทางความงามไป ดังนั้นการจัดองค์ประกอบศิลป์ จึงมีความสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้งานศิลปะทรงคุณค่าทางความงามอย่างสมบูรณ์
การจัดองค์ประกอบของศิลปะ มีหลักที่ควรคำนึง อยู่ 5 ประการ คือ
1. สัดส่วน (Proportion)
สัดส่วน หมายถึง ความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมระหว่างขนาดของ องค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดที่อยู่ในรูปทรงเดียวกันหรือระหว่างรูปทรง และรวมถึง ความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายด้วย ซึ่งเป็นความพอเหมาะพอดี ไม่ มากไม่น้อย ขององค์ประกอบทั้งหลายที่นำมาจัดรวมกัน ความเหมาะสมของสัดส่วนอาจ พิจารณาจากคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1.1 สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน จากรูปลักษณะตามธรรมชาต ของ คน สัตว์ พืช ซึ่งโดยทั่วไป ถือว่า สัดส่วนตามธรรมชาติ จะมีความงามที่เหมาะสมที่สุด หรือจากรูปลักษณะที่เป็นการ สร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น Gold section เป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงของกรีก ซึ่งถือว่า "ส่วนเล็กสัมพันธ์กับส่วนที่ใหญ่กว่า ส่วนที่ใหญ่กว่าสัมพันธ์กับส่วนรวม" ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างลงตัว
1.2 สัดส่วนจากความรู้สึก โดยที่ศิลปะนั้นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความงามของรูปทรงเพียง อย่างเดียว แต่ยังสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึง เนื้อหา เรื่องราว ความรู้สึกด้วย สัดส่วนจะช่วย เน้นอารมณ์ ความรู้สึก ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเรื่องราวที่ศิลปินต้องการ ลักษณะเช่น นี้ ทำให้งานศิลปะของชนชาติต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องราว อารมณ์ และ ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่าง ๆ กันไป เช่น กรีก นิยมในความงามตามธรรมชาติเป็น อุดมคติ เน้นความงามที่เกิดจากการประสานกลมกลืนของรูปทรง จึงแสดงถึงความเหมือน จริงตามธรรมชาติ ส่วนศิลปะแอฟริกันดั้งเดิม เน้นที่ความรู้สึกทางวิญญานที่น่ากลัว ดังนั้น รูปลักษณะจึงมีสัดส่วนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากธรรมชาติทั่วไป
2. ความสมดุล (Balance)
ความสมดุล หรือ ดุลยภาพ หมายถึง น้ำหนักที่เท่ากันขององค์ประกอบ ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ในทางศิลปะยังรวมถึงความประสานกลมกลืน ความพอเหมาะพอดีของ ส่วนต่าง ๆ ในรูปทรงหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ลงใน งานศิลปกรรมนั้นจะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ในธรรมชาตินั้น ทุกสิ่งสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้มเพราะมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน ฉะนั้น ในงานศิลปะถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป แน่นไป หรือ เบา บางไปก็จะทำให้ภาพนั้นดูเอนเอียง และเกิดความ รู้สึกไม่สมดุล เป็นการบกพร่องทางความงาม ดุลยภาพในงานศิลปะ มี 2 ลักษณะ คือ
1. ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน คือ การวางรูปทั้งสองข้างของแกนสมดุล เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ
2. ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือน กัน มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่ เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความสมดุลกัน อาจเป็นความสมดุลด้วย น้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้ การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ สมดุลแบบอสมมาตรอาจทำได้โดย เลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า หรือ เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาด เล็กแต่มีรูปลักษณะที่น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา
3. จังหวะลีลา (Rhythm)
จังหวะลีลา หมายถึง การเคลื่อนไหวที่เกิดจาการซ้ำกันขององค์ประกอบ เป็นการซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบธรรมดาที่มีช่วงห่างเท่าๆ กัน มาเป็นระเบียบที่สูงขึ้น ซับซ้อนขึ้นจนถึงขั้นเกิดเป็นรูปลักษณะของศิลปะ โดยเกิดจาก การซ้ำของหน่วย หรือการสลับกันของหน่วยกับช่องไฟ หรือเกิดจาก การเลื่อนไหลต่อเนื่องกันของเส้น สี รูปทรง หรือ น้ำหนัก
รูปแบบๆ หนึ่ง อาจเรียกว่าแม่ลาย การนำแม่ลายมาจัดวางซ้ำ ๆ กันทำให้เกิดจังหวะ และถ้าจัดจังหวะให้แตกต่างกันออกไป ด้วยการเว้นช่วง หรือสลับช่วง ก็จะเกิดลวดลาย ที่แตกต่างกันออกไป ได้อย่างมากมาย แต่จังหวะของลายเป็นจังหวะอย่างง่าย ๆ ให้ความ รู้สึกเพียงผิวเผิน และเบื่อง่าย เนื่องจากขาดความหมาย เป็นการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกัน แต่ไม่มีความหมายในตัวเอง จังหวะที่น่าสนใจและมีชีวิต ได้แก่ การเคลื่อนไหวของ คน สัตว์ การเติบโตของพืช การเต้นรำ เป็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ให้ความบันดาล ใจในการสร้างรูปทรงที่มีความหมาย
เนื่องจากจังหวะของลายนั้น ซ้ำตัวเองอยู่ตลอดไปไม่มีวันจบ และมีแบบรูปของการซ้ำ ที่ตายตัว แต่งานศิลปะแต่ละชิ้นจะต้องจบลงอย่างสมบูรณ์ และมีความหมายในตัว งาน ศิลปะทุกชิ้นมีกฎเกณฑ์และระเบียบที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน งานชิ้นใดที่แสดงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกินไป งานชิ้นนั้นก็จะจำกัดตัวเอง ไม่ต่าง อะไรกับลวดลายที่มองเห็นได้ง่าย ไม่มีความหมาย ให้ผลเพียงความเพลิดเพลินสบายตาแก่ผู้ชม
4. การเน้น (Emphasis)
การเน้น หมายถึง การกระทำให้เด่นเป็นพิเศษกว่าธรรมดา ในงานศิลปะจะต้องมี ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือจุดใดจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกว่าส่วนอื่น ๆ เป็นประธานอยู่ ถ้าส่วนนั้นๆ อยู่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน ก็อาจถูกกลืน หรือ ถูกส่วนอื่นๆที่มีความสำคัญน้อยกว่าบดบัง หรือแย่งความสำคัญ ความน่าสนใจไปเสียงานที่ไม่มีจุดสนใจ หรือประธาน จะทำให้ดูน่าเบื่อ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกันโดยปราศจากความหมาย หรือเรื่องราวที่น่าสนใจดังนั้น ส่วนนั้นจึงต้องถูกเน้น ให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา เป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ผลงานมีความงาม สมบูรณ์ ลงตัว และน่าสนใจมากขึ้น การเน้นจุดสนใจสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
1. การเน้นด้วยการใช้องค์ประกอบที่ตัดกัน (Emphasis by Contrast) สิ่งที่แปลกแตก ต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของงาน จะเป็นจุดสนใจ ดังนั้น การใช้องค์ประกอบที่มีลักษณะ แตกต่าง หรือขัดแย้ง กับส่วนอื่น ก็จะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงานได้ แต่ทั้งนี้ต้อง พิจารณาลักษณะความแตกต่างที่นำมาใช้ด้วยว่า ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในส่วนรวม และทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่ โดยต้องคำนึงว่า แม้มีความขัดแย้ง แตก ต่างกันในบางส่วน และในส่วนรวมยังมีความกลมกลืนเป็นเอกภาพเดียวกัน
2. การเน้นด้วยการด้วยการอยู่โดดเดี่ยว (Emphasis by Isolation) เมื่อสิ่งหนึ่งถูกแยก ออกไปจากส่วนอื่น ๆ ของภาพ หรือกลุ่มของมัน สิ่งนั้นก็จะเป็นจุดสนใจ เพราะเมื่อ แยกออกไปแล้วก็จะเกิดความสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่าง ที่ไม่ใช่แตก ต่างด้วยรูปลักษณะ แต่เป็นเรื่องของตำแหน่งที่จัดวาง ซึ่งในกรณีนี้ รูปลักษณะนั้นไม่ จำเป็นต้องแตกต่างจากรูปอื่น แต่ตำแหน่งของมันได้ดึงสายตาออกไป จึงกลายเป็น จุดสนใจขึ้นมา
3. การเน้นด้วยการจัดวางตำแหน่ง (Emphasis by Placement) เมื่อองค์ประกอบอื่น ๆ ชี้นำมายังจุดใด ๆ จุดนั้นก็จะเป็นจุดสนใจที่ถูกเน้นขึ้นมา และการจัดวางตำแหน่งที่ เหมาะสม ก็สามารถทำให้จุดนั้นเป็นจุดสำคัญขึ้นมาได้เช่นกัน
พึงเข้าใจว่า การเน้น ไม่จำเป็นจะต้องชี้แนะให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป สิ่งที่จะต้อง ระลึกถึงอยู่เสมอ คือ เมื่อจัดวางจุดสนใจแล้ว จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งอื่นมา ดึงความสนใจออกไป จนทำให้เกิดความสับสน การเน้น สามารถกระทำได้ด้วยองค์ ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น สี แสง-เงา รูปร่าง รูปทรง หรือ พื้นผิว ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการในการนำเสนอของศิลปินผู้สร้างสรรค์
5. เอกภาพ (Unity)
เอกภาพ หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบศิลป์ทั้งด้านรูปลักษณะ และด้านเนื้อหาเรื่องราว เป็นการประสานหรือจัดระเบียบของส่วนต่าง ๆให้เกิดความเป็น หนึ่งเดียว เพื่อผลรวมอันไม่อาจแบ่งแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป การสร้างงานศิลปะ คือ การสร้างเอกภาพขึ้นจากความสับสน ความยุ่งเหยิง เป็นการจัดระเบียบ และดุลยภาพ ให้แก่สิ่งที่ขัดแย้งกันเพื่อให้รวมตัวกันได้ โดยการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆให้สัมพันธ์กันเอกภาพของงานศิลปะ มีอยู่ 2 ประการ คือ
1. เอกภาพของการแสดงออก หมายถึง การแสดงออกทีมีจุดมุ่งหมายเดียว แน่นอน และมี ความเรียบง่าย งานชิ้นเดียวจะแสดงออกหลายความคิด หลายอารมณ์ไม่ได้ จะทำให้สับสน ขาดเอกภาพ และการแสดงออกด้วยลักษณะเฉพาตัวของศิลปินแต่ละคน ก็สามารถทำให้ เกิดเอกภาพแก่ผลงานได้ 2. เอกภาพของรูปทรง คือ การรวมตัวกันอย่างมีดุลยภาพ และมีระเบียบขององค์ประกอบ ทางศิลปะ เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงหนึ่ง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ของศิลปิน ออกได้อย่างชัดเจน เอกภาพของรูปทรง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อความงามของผลงานศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่ศิลปินใช้เป็นสื่อในการแสดงออกถึงเรื่องราว ความคิด และอารมณ์ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการสร้างเอกภาพในงานศิลปะเป็นกฎเกณฑ์เดียวกันกับธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ 2 หัวข้อ คือ
1. กฎเกณฑ์ของการขัดแย้ง (Opposition) มีอยู่ 4 ลักษณะ คือ 1.1 การขัดแย้งขององค์ประกอบทางศิลปะแต่ละชนิด และรวมถึงการขัดแย้งกันของ องค์ประกอบต่างชนิดกันด้วย 1.2 การขัดแย้งของขนาด 1.3 การขัดแย้งของทิศทาง 1.4 การขัดแย้งของที่ว่างหรือ จังหวะ 2. กฎเกณฑ์ของการประสาน (Transition) คือ การทำให้เกิดความกลมกลืน ให้สิ่งต่าง ๆ เข้ากันด้อย่างสนิท เป็นการสร้างเอกภาพจากการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน การประสานมีอยู่ 2 วิธี คือ
2.1 การเป็นตัวกลาง (Transition) คือ การทำสิ่งที่ขัดแย้งกันให้กลมกลืนกัน ด้วยการ ใช้ตัวกลางเข้าไปประสาน เช่น สีขาว กับสีดำ ซึ่งมีความแตกต่าง ขัดแย้งกันสามารถทำให้ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ ด้วยการใช้สีเทาเข้าไปประสาน ทำให้เกิดความกลมกลืนกัน มากขึ้น 2.2 การซ้ำ (Repetition) คือ การจัดวางหน่วยที่เหมือนกันตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป เป็น การสร้างเอกภาพที่ง่ายที่สุด แต่ก็ทำให้ดูจืดชืด น่าเบื่อที่สุด นอกเหนือจากกฎเกณฑ์หลักคือ การขัดแย้งและการประสานแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์รอง อีก 2 ข้อ คือ
1. ความเป็นเด่น (Dominance) ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ 1.1 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการขัดแย้ง ด้วยการเพิ่ม หรือลดความสำคัญ ความน่าสนใจ ในหน่วยใดหน่วยหนึ่งของคู่ที่ขัดแย้งกัน 1.2 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการประสาน
2. การเปลี่ยนแปร (Variation) คือ การเพิ่มความขัดแย้งลงในหน่วยที่ซ้ำกัน เพื่อป้องกัน ความจืดชืด น่าเบื่อ ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าสนใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปรมี 4 ลักษณะ คือ
2.1 การปลี่ยนแปรของรูปลักษณะ 2.2 การปลี่ยนแปรของขนาด 2.3 การปลี่ยนแปรของทิศทาง 2.4 การปลี่ยนแปรของจังหวะ
การเปลี่ยนแปรรูปลักษณะจะต้องรักษาคุณลักษณะของการซ้ำไว้ ถ้ารูปมีการเปลี่ยน แปรไปมาก การซ้ำก็จะหมดไป กลายเป็นการขัดแย้งเข้ามาแทน และ ถ้าหน่วยหนึ่งมีการ เปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็ว มีความแตกต่างจากหน่วยอื่น ๆ มาก จะกลายเป็นความเป็นเด่น เป็นการสร้างเอกภาพด้วยความขัดแย้ง

25 สิงหาคม 2552

ความรู้เรื่องเส้น

ความสำคัญของ "เส้น" องค์ประกอบสำคัญที่สร้างสรรค์เพื่อความสวยงามของงานศิลปะ

น้องแอริณ ดาราดาวรุ่งค่ายเอ็กแซ็กท์ เปิดใจหนูไม่ได้เป็นเด็กเส้น ที่ได้เล่นละครผ่านการคัดเลือกตามขั้นตอนและความสามารถ ''''น้องแอริณ'''' ไฮโซทายาทเจ้าของอะไหล่เครื่องบินสวย ดาราหน้าใหม่ค่ายเอ็กแซ็กท์ สวยใสเพียบพร้อมสุดๆ แต่มีกระแสในเรื่องเรื่องแอ็คติ้ง เพราะยังเล่นละครแข็งทื่อ โดนกระแสในอินเทอร์เน็ต ว่าที่เธอได้เป็นดาราเพราะเป็น เด็กเส้น ของคุณหนูบอย (ที่มาข่าว)
คำว่า เส้น ในภาษาไทย ดูจะถูกนำมาใช้เกี่ยวข้องเกือบทุก ๆ เรื่องและยังมีส่วนสำคัญในเรื่องนั้น ๆ ทั้งเรื่องอาหาร เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นก๋วยจั๋บ หรือแม้แต่วงการบันเทิง ที่มีเด็กเส้น หรือแม้แต่ในด้านศิลปะ เส้น (Line) ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างงาน จะเป็นอย่างไรลองมาศึกษากันดูนะครับ...
ลักษณะของเส้น
เส้น คือ ร่องรอยที่เกิดจากเคลื่อนที่ของจุด หรือถ้าเรานำจุดมาวางเรียงต่อ ๆ กันไป ก็จะเกิดเป็นเส้นขึ้น เส้นมีมิติเดียว คือ ความยาว ไม่มีความกว้าง ทำหน้าที่เป็นขอบเขต ของที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก สี ตลอดจนกลุ่มรูปทรงต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแกนหรือ โครงสร้างของรูปร่างรูปทรง เส้นถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด เส้นสามารถให้ความหมาย แสดง ความรู้สึก และอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง และด้วยการสร้างเป็นรูปทรงต่าง ๆ ขึ้น เส้น มี 2 ลักษณะ ซึ่งเส้นทั้งสองชนิดนี้ เมื่อนำมาจัดวางในลักษณะต่าง ๆ กัน จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ และให้ความหมาย ความรู้สึก ที่แตกต่างกัน ได้แก่
- เส้นตรง (Straight Line) - เส้นโค้ง (Curve Line)
ลักษณะของเส้น 1. เส้นตั้ง หรือ เส้นดิ่ง ให้ความรู้สึกทางความสูง สง่า มั่นคง แข็งแรง หนักแน่น เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อตรง
2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกทางความกว้าง สงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย
3. เส้นเฉียง หรือ เส้นทะแยงมุม ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง
4. เส้นหยัก หรือ เส้นซิกแซก แบบฟันปลา ให้ความรู้สึก คลื่อนไหว อย่างเป็น จังหวะ มีระเบียบ ไม่ราบเรียบ น่ากลัว อันตราย ขัดแย้ง ความรุนแรง
5. เส้นโค้ง แบบคลื่น ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพ อ่อนโยน นุ่มนวล
6. เส้นโค้งแบบก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว คลี่คลาย หรือเติบโตในทิศทางที่ หมุนวนออกมา ถ้ามองเข้าไปจะเห็นพลังความเคลื่อนไหวที่ไม่สิ้นสุด
7. เส้นโค้งวงแคบ ให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง การเปลี่ยนทิศทาง ที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง
8. เส้นประ ให้ความรู้สึกที่ไม่ต่อเนื่อง ขาด หาย ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเครียด

ความสำคัญของเส้น
1. ใช้ในการแบ่งที่ว่างออกเป็นส่วน ๆ
2. กำหนดขอบเขตของที่ว่าง หมายถึง ทำให้เกิดเป็นรูปร่าง (Shape) ขึ้นมา
3. กำหนดเส้นรอบนอกของรูปทรง ทำให้มองเห็นรูปทรง (Form) ชัดขึ้น
4. ทำหน้าที่เป็นน้ำหนักอ่อนแก่ ของแสดงและเงา หมายถึง การแรเงาด้วยเส้น
5. ให้ความรู้สึกด้วยการเป็นแกนหรือโครงสร้างของรูป และโครงสร้างของภาพ
ข้อคำถามสานต่อความคิด
- ลักษณะความแตกต่างของลายเส้นให้ความรู้สึกและสื่อความหมายอย่างไร
- ลักษณะของเส้นต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างไรกับงานศิลปะ
- เราสามารถปรับประยุกต์นำลายเส้นแต่ละลักษณะไปสร้างงานศิลปะได้อย่างไร
- เราสามารถนำความรู้จากเรื่องที่ศึกษาไปใช้ประโยชน์ต่อสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ได้อย่างไรบ้าง
เชื่อมโยงในองค์ความรู้
คณิตศาสตร์ รูปเรขาคณิต สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
ภาษาไทย การเขียน การอธิบาย
สังคมศึกษาวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวไทยที่เกี่ยวข้อง นำมาเป็นแนวคิดในการวาดภาพระบายสี
สุขศึกษาและพลศึกษา การสร้างสนามกีฬาแต่ละประเภท
บูรณาการในทุกสาระการเรียนรู้ สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน กิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียน เพิ่มเติมกิจกรรมนำไปใช้
- กิจกรรมวาภาพลายเส้นสร้างสรรค์งานอย่างอิสระ
- ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับงนศิลปะ
- ศึกษาและแสวงหาประสบการณ์ตรงทางด้านงานศิลปะในชุมชนท้องถิ่น
- สะสมภาพผลงานศิลปะที่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
- ศึกษาให้ความสนใจงานศิลปะในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากทัศนศิลป์

ข้อสอบมาตราฐาน

1. หากนำเอาแม่สีทั้งสามสีมาผสมกัน
จะได้สีใด ประเภทใด
ก. สีเงิน
ข. สีทอง
ค. สีขาว
ง. สีเทา
2. สีใดจัดอยู่ในโทนสีร้อน
ก. สีน้ำเงิน
ข. สีส้มเหลือง
ค. สีเขียวเหลือง
ง. สีเขียวน้ำเงิน
3. การพับสีควรเลือกใช้สีชนิดใด จึงจะได้ สีสดใส
ก. สีโปสเตอร์
ข. สีฝุ่น
ค. สีน้ำ
ง. สีชอล์ก
4. ข้อใดเป็นภาพที่วาดเลียนแบบธรรมชาติ
ก. ภาพวัดต่างๆ
ข. ภาพบ้านหลังใหญ่
ค. ภาพพืชผักสวนครัว
ง. ภาพรถมอเตอร์ไซค์

5. การปั้นภาพวิถีชีวิตในชนบท ควรปั้นภาพใดเป็นจุดเด่นของภาพ
ก. ภาพชาวนาไถนา
ข. ภาพคนเล่นกีฬา
ค. ภาพรถยนต์
ง. ภาพตึกสูง
6. การแกะสลักจากสบู่ ควรเริ่มต้นจากข้อใด เ
ก. ตกแต่งรายละเอียด
ข. เขียนลวดลายลงบนสบู่
ค. เกลาพื้นผิวสบู่ให้เรียบ
ง. ใช้มีดแกะสลักให้เป็นภาพ

แนวข้อสอบวัดมาตราฐานด้านศิลปะ

7. เส้นขดก้นหอย ทำให้เกิดความรู้สึกใด
ก. สับสน
ข. สงบเงียบ
ค. มั่นคง
ง. ตื่นเต้น
8. สีของสิ่งใด จัดเป็นสีจากธรรมชาติ
ก. สีของหมวก
ข. สีของนาฬิกา
ค. สีของใบไม้
ง. สีของรองเท้า
9. ผลไม้ข้อใด มีรูปทรงเป็นรูปเรขาคณิต
ก. ทุเรียน
ข. มะละกอ
ค. มะม่วง
ง.แตงโม
10. พระจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญ มีรูปร่างอย่างไร
ก. รูปร่างสี่เหลี่ยม
ข. รูปร่างวงกลม
ค. รูปร่างสามเหลี่ยม

แนวข้อสอบศิลปะ ระดับชั้น ม. 2 - ม.6

แบบสอบ
1. สิ่งที่เกิดขึ้นเอง ให้ความสดชื่นแจ่มใสและเบิกบานแก่มนุษย์ หมายถึงข้อใด
ก. ศิลปะ ข. ธรรมชาติ ค. วิทยาศาสตร์ ง. ถูกทุกข้อ
2. สิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อความงามและความพอใจ หมายถึงข้อใด
ก. ศิลป ะข. ธรรมชาติ ค. วิทยาศาสตร์ ง. ถูกทุกข้อ
3. ผู้ที่ศึกษาศิลปะแล้วเข้าใจ ประทับใจในศิลปะ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง
ก. ประโยชน์ต่อตนเอง ข. ประโยชน์ต่อสังคม ค. ประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน ง. ถูกทุกข้อ
4. เมื่อได้ชมนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะแล้วเกิดความรู้สึกประทับใจอย่างมาก นักเรียนควรปฏิบัติตนอย่างไร
ก. ถ่ายรูปกับผลงาน ข. หยิบ จับ สัมผัสผลงาน ค. เก็บเอาชิ้นส่วนของผลงานศิลปะกลับบ้านเป็นที่ระลึก ง. เก็บสูจิบัตรเพื่อนำมาศึกษาหาความรู้และรายละเอียดของผลงาน
5. ศิลปะมีคุณค่าต่อผู้ชื่นชมและสังคมส่วนรวมอย่างไร
ก. มีความสุขทางใจ ข. การชื่นชมความงาม ค. ให้คติธรรม ง. ถูกทุกข้อ
6. ปัญหาของการรับรู้และความประทับใจในงานศิลปะที่เด่นชัดที่สุด คือข้อใด
ก. สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ข. สภาพแวดล้อมขององค์กรทางศิลปะ ค. สภาพแวดล้อมของสังคมและการเมือง ง. สภาพแวดล้อมทางด้านการศึกษาศิลปะ
7. ข้อใดเป็นิธีการปลูกฝังความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ก. วาดภาพสัตว์ ข. วาดภาพทิวทัศน์ ค. ปั้นรูปวิถีชีวิตผู้คน ง. ถูกทุกข้อ
8. การรับรู้ความงามของมนุษย์เกิดจากพฤติกรรมข้อใด
ก. ความมั่นใจ ข. การวิเคราะห์ ค. การสังเคราะห์ ง. การประเมินค่า
9. พฤติกรรมอย่างไรของบุคคลซึ่งแสดงว่าเข้าถึงศิลปะ
ก. รับรู้และยินดี ข. มองเห็นคุณค่า ค. เข้าใจและซาบซึ้ง ง. ชื่นชอบและสนใจ
10. การที่ผู้ดูชื่นชมศิลปกรรมชิ้นเดียวกัน แต่มีความรู้สึกตอบสนองแตกต่างกันเป็นเพราะเหตุใด
ก. มนุษย์มีประสบการณ์ไม่เท่ากัน ข. ศิลปินกับผู้ดูมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ค. ศิลปกรรมชิ้นนั้นไม่มีคุณค่าที่แท้จริง ง. เป็นความบกพร่องในการถ่ายทอดของศิลปิน
11. ถ้านักเรียนเกิดความประทับใจในธรรมชาติที่สวยงาม ควรใช้วิธีใดเก็บบันทึกความงามนั้น
ก. ถ่ายภาพ ข. วาดภาพสีน้ำ ค. เก็บเอาก้อนหิน ใบไม้ ดอกไม้ กลับบ้านเป็นที่ระลึก ง. ข้อ ก และ ข ถูก
12. ความงามที่แสดงออกเกี่ยวกับเส้น สี แสงเงา รูปร่าง ความรู้สึก คืออะไร
ก. ดนตรี ข. จิตรกรรม ค. ประติมากรรม ง. สถาปัตยกรรม
13. งานประเภทใดสามารถสร้างให้เห็นจริงได้จากลักษณะผิว (texture) ของวัตถุที่นำมาสร้างสรรค์ผลงาน
ก. จิตรกรรม ข. วรรณกรรม ค. ประติมากรรม ง. ถูกทุกข้อ
14. ความงามที่แสดงออกให้เห็นถึงปริมาตร แสง เงา สัดส่วน ขนาด การจัดองค์ประกอบศิลป์ และความรู้สึก คือข้อใด
ก. ภาพพิมพ์ ข. จิตรกรรม ค. สถาปัตยกรรม ง. ประติมากรรม
15. ความงามของประติมากรรมไทย เกิดจากคุณลักษณะใด
ก. สภาพแวดล้อม ข. ความเกลี้ยงเกลาของผิ วค. ความอ่อนหวานคดโค้งของรูปทรง ง. ถูกทุกข้อ
16. ลักษณะผิวหยาบให้ความรู้สึกอย่างไร
ก. แข็งแรง สง่างาม สุภาพ ข. แข็งแรง อ่อนไหว สุภาพ ค. แข็งแรง กระด้าง หนักแน่น ง. แข็งแรง เคลื่อนไหว น่ากลัว
17. ศิลปะประเภทใดที่เหมาะในการนำมาจัดแสดงในสวนสาธารณ
ก. ภาพถ่าย ข. ภาพพิมพ์ ค. จิตรกรรม ง. ประติมากรรม
18. นักเรียนสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนได้ด้วยวิธีใดบ้าง
ก. เขียนป้ายรณรงค์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ข. นำความรู้ด้านศิลปะมาจัดตกแต่งโรงเรียนให้สวยงาม ค. เขียนภาพปัญหาต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ง. ถูกทุกข้อ
19. ข้อใดคือผลสำเร็จของการทำงานศิลปะ
ก. มีผู้ยกย่อมและชื่นชม ข. ได้แสดงผลงานที่ต่างประเทศ ค. มีรายได้จากการขายผลงาน ง. ศิลปินมีความพึงพอใจในผลงานและผู้ชมได้รับรู้และเข้าใจถึงเนื้อหาที่สร้างสรรค์
20. ข้อใดคือลักษณะของผลงานศิลปะที่ดี
ก. ผลงานมีราคาแพง ข. คนทั่วไปดูผลงานแล้วชื่นชอบ ค. ผลงานต้องวาดโดยศิลปินชื่อดัง ง. ผลงานมีความคิดสร้างสรรค์และยกระดับจิตใจของผู้ดูให้ละเอียดอ่อน

คำชี้แจง ให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด (ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5,6)
1. ศูนย์กลางของอาณาจักรทวาราวดี สันนิษฐานว่าตั้งอยู่ที่ใด
ก. เชียงใหม่ ข. นครปฐม ค. นครพนม ง. ลังกา
2. ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นศิลปะกรรมในสมัยใด
ก. ศรีวิชัย ข. ทวาราวดี ค. ลพบุรี ง. สุโขทัย
3. ศิลปะแบบศรีวิชีย มีศูนย์กลางอยู่ที่ใด
ก. นครปฐม ข. กาญจนบุรี ค. นครราชสีมา ง. ไชยา
4. ศิลปะซึ่งแรกว่า "ยุคทอง" ในสมัยพระเจ้าติโกราชคือศิลปะแบบใด
ก. เชียงแสน ข. ทวาราวดี ค. ศรีวิชัย ง. ลพบุรี
5. พระพุทธรูปที่ได้รับยกย่องว่าเป็น ศิลปกรรมชั้นเลิศ คือพระพุทธรูปแบบใด
ก. อยุธยา ข. สุโขทัย ค. เชียงแสน ง. ล้านนา
6. ศิลปกรรมจีนเข้ามามีบทบาทอย่างรุนแรงในสมัยรัตนโกสินทร์ตรงกับรัชกาลใด
ก. รัชกาลที่ 1-2 ข. รัชกาลที่ 3 ค. รัชกาลที่ 4-5 ง. รัชกาลที่ 6
7. สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากจีนคือ
ก. ปรางค์วัดอรุณราชวราราม ข. โบสถ์ วิหาร วัดบวรนิเวศ ค. ที่นั่งจักรีมหาปราสาท ง. หอสมุดแห่งชาติ
8. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นสิลปะชั้นเยี่ยมของสมัยใด
ก. เชียงแสน ข. ทวาราวดี ค. ศรีวิชัย ง. ลพบุรีย์
9. พระปฐมเจดียืองเดิม เป็นศิลปะสมัยใด
ก. ทวาราวดี ข. ศรีวิชัย ค. สุโขทัย ง. รัตนโกสินทร์
10. ศิลปะกรรมตะวันตกเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์ ตรงกับรัชกาลใด
1. รัชกาลที่ 1-2 2. รัชกาลที่ 3 3. รัชกาลที่ 4-5 4. รัชกาลที่ 6
ก.ข้อ 1 ข.ข้อ 2 ค.ข้อ 3 ง.ข้อ 4

20 สิงหาคม 2552

แขนงงานศิลปะ (นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2)

มัณฑนศิลป์ Decorative Art
เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อการตกแต่ง สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นได้แก่ การจัดตกแต่งภายในบ้าน อาคาร สถานที่ต่าง ๆ การตกแต่งภายนอก การจัดสวน การจัดนิทรรศการ การจัดบอร์ด ป้ายนิเทศ การจัดแสดงสินค้า การแต่งกาย การแต่งหน้า การตกแต่งร้านค้า เป็นต้น ผู้สร้างสรรค์งาน เรียนว่า มัณฑนากร
มัณฑนศิลป์ Decorative Art
เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อการตกแต่ง สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นได้แก่ การจัดตกแต่งภายในบ้าน อาคาร สถานที่ต่าง ๆ การตกแต่งภายนอก การจัดสวน การจัดนิทรรศการ การจัดบอร์ด ป้ายนิเทศ การจัดแสดงสินค้า การแต่งกาย การแต่งหน้า การตกแต่งร้านค้า เป็นต้น ผู้สร้างสรรค์งาน เรียนว่า มัณฑนากร
พาณิชย์ศิลป์ Commercial Art
เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อสนับสนุนกิจการค้า และการบริการ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายได้แก่ การออกแบบเครื่องหมายการค้า การออกแบบสิ่งพิมพ์ การออกแบบโฆษณา การออกแบบฉลากสินค้า การออกแบบจัดแสดงสินค้า ฯลฯ ผู้สร้างสรรค์งาน เรียนกว่า นักออกแบบ (Designer)

การออกแบบ Design การออกแบบ หมายถึง การถ่ายทอดรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงาน ที่ผู้อื่น สามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้ เพื่อให้มีความเข้าใจในผลงานร่วมกัน ความสำคัญของการออกแบบ มีอยู่หลายประการ กล่าวคือ
1.ในแง่ของการวางแผนการการทำงาน งานออกแบบจะช่วยให้การทำงานเป็นไปตาม ขั้นตอน อย่างเหมาะสม และประหยัดเวลา ดังนั้นอาจถือว่าการออกแบบ คือ การวาง แผนการทำงานก็ได้
2. ในแง่ของการนำเสนอผลงาน ผลงานออกแบบจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ตรงกันอย่างชัดเจน ดังนั้น ความสำคัญในด้านนี้ คือ เป็นสื่อความหมายเพื่อความเข้าใจ ระหว่างกัน
3. เป็นสิ่งที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับงาน งานบางประเภทอาจมีรายละเอียดมากมาย ซับซ้อน ผลงานออกแบบจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง และผู้พบเห็นมีความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ผลงานออกแบบ คือ ตัวแทนความคิดของผูออกแบบได้ทั้งหมด
4. แบบ จะมีความสำคัญอย่างที่สุด ในกรณีที่ นักออกแบบกับผู้สร้างงานหรือผู้ผลิต เป็นคนละคนกัน เช่น สถาปนิกกับช่างก่อสร้าง นักออกแบบกับผู้ผลิตในโรงงาน หรือถ้าจะเปรียบไปแล้ว นักออกแบบก็เหมือนกับคนเขียนบทละครนั่นเอง แบบ เป็นผลงานจากการออกแบบ เป็นสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของ นักออกแบบ แบบมีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้ คือ
1. เป็นภาพวาดลายเส้น (drawing) ภาพระบายสี (Painting) ภาพถ่าย (Pictures) หรือแบบร่าง (Sketch) แบบที่มีรายละเอียด (Draft) เช่น แบบก่อสร้าง ภาพพิมพ์ (Printing) ฯลฯ ภาพต่าง ๆ ใช้แสดงรูปลักษณะของงาน หรือแสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงาน ที่เป็น 2 มิติ
2. เป็นแบบจำลอง (Model) หรือของจริง เป็นแบบอีกประเภทหนึ่งที่ใช้แสดง รายละเอียดของงานได้ชัดเจนกว่าภาพต่าง ๆ เนื่องจากมีลักษณะเป็น 3 มิติ ทำให้ สามารถเข้าใจในผลงานได้ดีกว่า นอกจากนี้ แบบจำลองบางประเภทยังใช้งานได้ เหมือนของจริงอีกด้วยจึงสมารถใช้ในการทดลอง และทดสอบการทำงาน เพื่อหา ข้อบกพร่องได้
ประเภทของการออกแบบ 1. การออกแบบทางสถาปัตยกรรม (Architecture Design) เป็นการออกแบบเพื่อ การก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นักออกแบบสาขานี้ เรียกว่า สถาปนิก (Architect) ซึ่ง โดยทั่วไปจะต้องทำงานร่วมกับ วิศวกรและมัณฑนากร โดยสถาปนิก รับผิดชอบเกี่ยว กับประโยชน์ใช้สอยและความงามของสิ่งก่อสร้าง งานทางสถาปัยตกรรมได้แก่- สถาปัตยกรรมทั่วไป เป็นการออกแบบสิ่งก่อสร้างทั่วไป เช่น อาคาร บ้านเรือน ร้านค้า โบสถ์ วิหาร ฯลฯ - สถาปัตยกรรมโครงสร้าง เป็นการออกแบบเฉพาะโครงสร้างหลักของอาคาร - สถาปัตยกรรมภายใน เป็นการออกแบบที่ต่อเนื่องจากงานโครงสร้าง ที่เป็นส่วนประกอบของอาคาร - งานออกแบบภูมิทัศน์ เป็นการออกแบบที่มีบริเวณกว้างขวาง เป็นการจัดบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม - งานออกแบบผังเมือง เป็นการออกแบบที่มีขนาดใหญ่ และมีองค์ประกอบซับซ้อน ซึ่งประกอบ ไปด้วยกลุ่มอาคารจำนวนมาก ระบบภูมิทัศน์ ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ
2. การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เป็นการออกแบบเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์ ชนิดต่าง ๆงานออกแบบสาขานี้ มีขอบเขตกว้างขวางมากที่สุด และแบ่งออกได้มากมาย หลาย ๆ ลักษณะ นักออกแบบรับผิดชอบเกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามของ ผลิตภัณฑ์ งานออกแบบประเภทนี้ได้แก่ - งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ - งานออกแบบครุภัณฑ์ - งานออกแบบเครื่องสุขภัณฑ์ - งานออกแบบเครื่องใช้สอยต่างๆ - งานออกแบบเครื่องประดับ อัญมณี - งานออกแบบเครื่องแต่งกาย- งานออกแบบภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ - งานออกแบบผลิตเครื่องมือต่าง ๆ ฯลฯ
3. การออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design) เป็นการออกแบบเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่นเดียวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน ต้องใช้ ความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีในการผลิตสูง ผู้ออกแบบคือ วิศวกร ซึ่งจะรับผิดชอบ ในเรื่องของประโยชน์ใช้สอย ความปลอดภัยและ กรรมวิธีในการผลิต บางอย่างต้องทำงาน ร่วมกันกับนักออกแบบสาขาต่าง ๆ ด้วย งานอกแบบประเภทนี้ได้แก่ - งานออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า - งานออกแบบเครื่องยนต์ - งานออกแบบเครื่องจักรกล - งานออกแบบเครื่องมือสื่อสาร - งานออกแบบอุปกณ์อิเลคทรอนิคส์ต่าง ๆ ฯลฯ
4. การออกแบบตกแต่ง (Decorative Design) เป็นการออกแบบเพื่อการตกแต่งสิ่งต่าง ๆให้สวยงามและเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น นักออกแบบเรียนว่า มัณฑนากร (Decorator) ซึ่งมักทำงานร่วมกับสถาปนิก งานออกแบบประเภทนี้ได้แก่ - งานตกแต่งภายใน (Interior Design) - งานตกแต่งภายนอก (Exterior Design) - งานจัดสวนและบริเวณ ( Landscape Design) - งานตกแต่งมุมแสดงสินค้า (Display) - การจัดนิทรรศการ (Exhibition) - การจัดบอร์ด - การตกแต่งบนผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ฯลฯ
5. การออกแบบสิ่งพิมพ์ (Graphic Design) เป็นการออกแบบเพื่อทางผลิตงานสิ่งพิมพ์ ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือ หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ นามบัตร บัตรต่าง ๆ งานพิมพ์ลวดลายผ้า งานพิมพ์ภาพลงบนสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ งานออกแบบรูปสัญลักษณ์ เครื่องหมายการค้า ฯลฯ
สำหรับการรับรู้ความงามทางศิลปะของมนุษย์นั้น สามารถรับรู้ได้ 2 ทาง คือ ทางสายตาจากการมองเห็น และทางหูจากการได้ยิน ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
1 ทัศนศิลป์ (Visual Art) เป็นงานศิลปะที่รับสัมผัสความงามได้ด้วยสายตา จากการ มองเห็น งานศิลปะส่วนใหญ่จะเป็นงานทัศนศิลป์ ทั้งสิ้น ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม มัณฑณศิลป์ อุตสากรรมศิลป์ พาณิชย์ศิลป์
2 โสตศิลป์ (Audio Art) เป็นงานศิลปะที่รับสัมผัสความงามได้ด้วยหู จากการฟังเสียง งานศิลปะ ที่จัดอยู่ในประเภทโสตศิลป์ ได้แก่ ดนตรี และ วรรณกรรม 3.โสตทัศฯศิลป์ (Audiovisual Art) เป็นงานศิลปะที่รับสัมผัสความงามทางศิลปะได้ทั้งสองทาง คือจากการมองเห็นและจากการฟัง งานศิลปะประเภทนี้ได้แก่ ศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ การละคร การภาพยนต์ ประติมากรรม (Sculpture) เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการสร้างรูปทรง 3 มิติ มีปริมาตร มีน้ำหนักและกิน
เนื้อที่ในอากาศ โดยการใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ วัสดุที่ใช้สร้างสรรค์งานประติมากรรม จะเป็น ตัวกำหนด วิธีการสร้างผลงาน ความงามของงานประติมากรรม เกิดจากการแสงและเงา ที่ เกิดขึ้นในผลงานการสร้างงานประติมากรรมทำได้ 4 วิธี คือ
1. การปั้น (Casting) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุ ทีเหนียว อ่อนตัว และยึดจับตัว กันได้ดี วัสดุที่นิยมนำมาใช้ปั้น ได้แก่ ดินเหนียว ดินน้ำมัน ปูน แป้ง ขี้ผึ้ง กระดาษ หรือ ขี้เลื่อยผสมกาว เป็นต้น
2. การแกะสลัก (Carving) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ จากวัสดุที่ แข็ง เปราะ โดยอาศัย เครื่องมือ วัสดุที่นิยมนำมาแกะ ได้แก่ ไม้ หิน กระจก แก้ว ปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น
3. การหล่อ (Molding) เป็นการสร้างรูปทราง 3 มิติ จากวัสดุที่หลอมตัวได้และกลับแข็ง ตัวได้ โดยอาศัยแม่พิมพ์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลงานที่เหมือนกันทุกประการตั้งแต่ 2 ชิ้น ขึ้นไป วัสดุที่นิยมนำมาใช้หล่อ ได้แก่ โลหะ ปูน แป้ง แก้ว ขี้ผึ้ง ดิน เรซิ่น พลาสติก ฯลฯ
รำมะนา (ชิต เหรียญประชา)
4. การประกอบขึ้นรูป (Construction) เป็นการสร้างรูปทรง 3 มิติ โดยนำวัสดุต่าง ๆ มา ประกอบเข้าด้วยกัน และยึดติดกันด้วยวัสดุต่าง ๆ การเลือกวิธีการสร้างสรรค์งานประติมากรรม ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ต้องการใช้ ประติมากรรม ไม่ว่าจะสร้างขึ้นโดยวิธีใด จะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ แบบนูนต่ำ แบบนูนสูง และแบบลอยตัว ผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรม เรียกว่า ประติมากร
ประเภทของงานประติมากรรม
1.ประติมากรรมแบบนูนต่ำ ( Bas Relief ) เป็นรูปที่เป็นนูนขึ้นมาจากพื้นหรือมีพื้นหลัง รองรับ มองเห็นได้ชัดเจนเพียงด้านเดียว คือด้านหน้า มีความสูงจากพื้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรูป จริง ได้แก่รูปนูนแบบเหรียญ รูปนูนที่ใช้ประดับตกแต่งภาชนะ หรือประดับตกแต่งอาคารทาง สถาปัตยกรรม โบสถ์ วิหารต่างๆ พระเครื่องบางชนิด
2.ประติมากรรมแบบนูนสูง ( High Relief ) เป็นรูปต่าง ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับแบบ นูนต่ำ แต่มีความสูงจากพื้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของรูปจริงขึ้นไป ทำให้เห็นลวดลายที่ลึก ชัดเจน และ และเหมือนจริงมากกว่าแบบนูนต่ำและใช้งานแบบเดียวกับแบบนูนต่ำ
3.ประติมากรรมแบบลอยตัว ( Round Relief ) เป็นรูปต่าง ๆ ที่มองเห็นได้รอบด้านหรือ ตั้งแต่ 4 ด้านขึ้นไป ได้แก่ ภาชนะต่าง ๆ รูปเคารพต่าง ๆ พระพุทธรูป เทวรูป รูปตามคตินิยม รูปบุคคลสำคัญ รูปสัตว์ ฯลฯ
สถาปัตยกรรม (Architecture)
เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง อาคาร ที่อยู่อาศัยต่าง ๆ การวางผังเมือง การจัดผังบริเวณ การตกแต่งอาคาร การออกแบบก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานศิลปะ ที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้ผู้สร้างงานจำนวนมาก และเป็นงานศิลปะที่มีอายุยืนยาว สถาปัตยกรรม เป็นวิธีการจัดสรรบริเวณที่ว่างให้เกิดประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และศิลปะ ความงดงาม และคุณค่าของสถาปัตยกรรม ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ดังนี้ คือ
1. การจัดสรรบริเวณที่ว่างให้สัมพันธ์กันของส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก
2. การจัดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย และสิ่งแวดล้อม
3. การเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกลมกลืน

16 สิงหาคม 2552

รางวัลชนะเลิศ"อันดับ ๑ รวมพลังศิลป์สร้างสรรค์"ระดับภาคใต้




นักเรียนโครงการเพชรศิลปะโรงเรียนสตูลวิทยา ชนะเลิศอันดับ ๑ การแข่งขัน"รวมพลังศิลป์สร้างสรรค์"ระดับภาคใต้ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา

รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ ๑ ระดับประเทศ รวมพลังศิลป์สร้างสรรค์



นักเรียนโครงการเพชรศิลปะโรงเรียนสตูลวิทยา เข้าร่วมแข่งขัน "รวมพลังศิลป์สร้างสรรค์" การแข่งขันรายการเก่งสร้างชาติ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันอับ ๑ ระดับประเทศ จากนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันทุกเขตการศึกษาทั่วประเทศ

ความรู้ทางศิลปะ(นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 )

เส้น คือ เกิดจากจุดที่เรียงต่อๆกันในทิศทางเดียวกัน
1. เส้นตรงแนวนอน ให้ความรู้สึกราบเรียบสงบนิ่ง
2. เส้นตรงแนวตั้ง ให้ความรู้สึกแข็งแรงมั่นคง
3. เส้นคลื่น ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง
4. เส้นหยัก ให้ความรู้สึกแหลมคมอันตราย
5. เส้นโค้ง ให้ความรู้สึกนุ่มนวล
6. เส้นเฉียง ให้ความรู้สึกไม่มั่นคงแข็งแรง
วิจิตรศิลป์ แบ่งออกเป็นงานหลัก 5 แขนงด้วยกันคือ
1. จิตรกรรม คืองานการวาดเส้น เขียนภาพระบายสีทุกชนิด เช่น สีไม้ สีชอค์ก สีน้ำ สีน้ำมัน เป็นต้นตัวอย่างงานคือภาพเขียนที่ระเบียงโบสถ์วัดพระแก้วมรกต
2. ประติมากรรม คืองานการปั้น การแกะ การสลัก และการหล่อ - การปั้น สร้างงานได้ด้วยดินเหนียว ดินน้ำมัน ปูนซีเมนต์ ขี้ผึ้ง เป็นต้น ตัวอย่างคือการปั้นหุ่นคนด้วยขี้ผึ้ง - การแกะ ใช้วัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุชิ้นเล็กๆจับได้ถนัด เช่น มีดขนาดเล็กใช้แกะพืชผักผลไม้เป็นลวดลายต่างๆ การสลัก ใช้วัสดุที่ใหญ่แข็งแรง เช่น สิ่ว เลื่อน ค้อนยาง เป็นต้น งานตัวอย่างที่เห็นคือการสลักไม้สักเป็นลวดลายต่างๆทางภาคเหนือของประเทศไทย - การหล่อ วัสดุที่นิยมคือ ทองเหลือง เป็นต้น ตัวอย่างได้แก่รูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่วงเวียนใหญ่รูปหล่อทหาร ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
3. สถาปัตยกรรม คืองานโครงสร้างลักษณะต่างๆ เช่น อาคาร ตึกสูง โบสถ์ เจดีย์ พระปรางค์ เป็นต้น ตัวอย่างได้แก่ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระปฐมเจดีย์ พระที่นั่งอนันตสมาคม
4. ดนตรี คือการแสดง ดนตรีไทย ดนตรีสากล ดุริยางค์ วงโยธวาทิต เป็นต้น
5. นาฏศิลป์ คือการแสดง การฟ้อนรำประเภทต่างๆ เช่น โขน ลิเก ลำตัด รำกลองยาวของภาคกลาง รำเซิ้งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รำฟ้อนเล็บของภาคเหนือ เป็นต้น
สีในวงจรสีธรรมชาติมีด้วยกัน 12 สี แบ่งออกเป็น 3 ขั้นดังนี้
สีขั้นที่ 1 คือ แม่สีมีด้วยกัน 3 สี คือ
- สีแดง - สีเหลือง - สีน้ำเงิน
สีขั้นที่ 2 คือ สีที่เกิดจากการผสมกันของสีขั้นที่ 1 ด้วยปริมาณ 50 : 50
- สีส้ม เกิดจากสีแดง ผสมกับ สีเหลือง - สีม่วง เกิดจากสีแดง ผสมกับ สีน้ำเงิน - สีเขียว เกิดจากสีเหลือง ผสมกับ สีน้ำเงิน
สีขั้นที่ 3 คือ สีที่เกิดจากการผสมกันของสีขั้นที่ 2 ด้วยปริมาณ 50 : 50
- สีส้มแดง เกิดจากสีส้ม ผสมกับ สีแดง - สีส้มเหลือง เกิดจากสีส้ม ผสมกับ สีเหลือง - สีม่วงแดง เกิดจากสีม่วง ผสมกับ สีแดง - สีม่วงน้ำเงิน เกิดจากสีม่วง ผสมกับ สีน้ำเงิน - สีเขียวเหลือง เกิดจากสีเขียว ผสมกับ สีเหลือง - สีเขียวน้ำเงิน เกืดจากสีเขียว ผสมกับ สีน้ำเงิน
สีคู่ปฏิปักษ์ คือสีตรงกันข้ามกันในวงจรสีธรรมชาติ
สีแดง ตรงข้าม สีเขียว
สีเหลือง ตรงข้าม สีม่วง
สีน้ำเงิน ตรงข้าม สีส้ม

การสร้างงานศิลปะ

การสร้างงานทางศิลปะจะคำนึงถึงโครงสร้างใหญ่ๆ อยู่ 3 ประการคือ1. รูปแบบ รูปทรง (FORM)2. เนื้อหา (CONTENT)3 เทคนิค วิธีการ (TECHNIQUE)รูปแบบ รูปทรง (FORM)หมายถึง โครงสร้างทางวัตถุของงานศิลปะอันได้แก่ รูปร่างภายนอกและภายใน เช่น ในงานจิตรกรรม รูปแบบเกิดจากการผสานกันของ เส้น (LINE) น้ำหนัก (SHADE) ที่ว่าง (SPACE) พื้นผิว (TEXTURE) และสี (COLOUR) จึงก่อให้เกิดเป็นลักษณะ 3 มิติขึ้นมา โดยการผสมผสานดังกล่าว
เนื้อหา (CONTENT)หมายถึง ลักษณะทางจิต หรือทางนามธรรม (ABSTRACT) ของโครงสร้างหรือรูปทรงนั้นที่ศิลปินได้สร้างจินตนาการออกมา โดยจุดประสงค์ที่จะให้ผู้เสพคล้อยตามจินตนาการของตัวเอง หรือจินตนาการแปลกแยกออกไปตามเนื้อหาที่ศิลปินสะท้อนออกมาในงานศิลปะ
เทคนิค (TECHNIQUE)หมายถึง โครงสร้างทางวัสดุ การเลือกใช้วัสดุ หรือการคิดค้นวัสดุแปลกใหม่ในการสร้างผลงานศิลปะ เช่น เทคนิคในการสร้างงานจิตรกรรม ซึ่งได้แก่ การเขียนภาพสีน้ำ สีน้ำมัน สีฝุ่น สีอะครายลิค สีโปสเตอร์ เป็นต้น ประติมากรรม ได้แก่ เทคนิคการแกะสลัก การปั้น การหล่อ หรือเทคนิคในการสร้างงาน ภาพพิมพ์ เป็นต้น ดังนั้นส่วนสำคัญของโครงสร้างใหญ่ๆ ที่กล่าวมานั้นจะต้องประสานกลมกลืนกัน กล่าวคือ เทคนิคจะต้องเกื้อกูลแก่รูปแบบ รูปแบบจะต้องสร้างขึ้นตามความจำเป็นของเรื่องที่จะต้องการสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้โดยไม่รู้สึกขัดตา

ทดสอบความรู้

แบบทดสอบศิลปะ ชุดที่ 1
คำชี้แจง ให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
1. สีในวงจรสีธรรมชาติมีทั้งหมดกี่สี
ก.12 สีข. 13 สี ค. 14 สี ง. 15 สี
2. งานทัศนศิลป์แบ่งออกเป็นกี่สาขา
ก. 1 สาขา ข. 2 สาขา ค. 3 สาขาง. 4 สาขา
3. ขอใดไม่ได้อยู่ในกลุ่มงานทัศนศิลป์
ก. จิตรกรรมข. ประติมากรรมค. สถาปัตยกรรมง. วรรณกรรม
4. ผลงานจิตรกรรมคือข้อใด
ก. ภาพวาดลายไทยวัดพระแก้ว ข. รูปปั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ ค. งานสลักโต๊ะไม้สักที่ภาคเหนือง. การแกะลวดลายผลไม้
5. หุ่นขี้ผึ้งคนเหมือน เป็นงานศิลปะประเภทใด
ก. จิตรกรรมข. ประติมากรรม ค. สถาปัตยกรรม ง. วรรณกรรม
6. เส้นตั้ง ให้ความรู้สึกอย่างไร
ก. สูงสง่า ข. ไม่มั่นคง ค. เคลื่อนไหวง. ราบเรียบ
7. เส้นที่ให้ความรู้สึกแหลมคมอันตรายคือ
ก. เส้นตรง ข. เส้นคลื่น ค. เส้นโค้งง. เส้นหยัก
8. เส้นที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวคือ
ก. เส้นตรงแนวนอนข. เส้นหยัก ค. เส้นตรงแนวตั้งง. เส้นคลื่น
9. ข้อใดคืองานสถาปัตยกรรม
ก. ภาพวาดที่วัดพระแก้ว ข. พระปรางค์ที่วัดอรุณราชวราราม ค. พระแก้วมรกต ง. รูปปั้นพระนเรศวรมหาราชที่ดอนเจดีย์
10. ข้อใดคืองานประติมากรรม
ก. ภาพวาดที่วัดโพธิ์ข. พระแก้วมรกตค. พระปฐมเจดีย์ ง. รูปหล่อทหารที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

สถาปัตยกรรมคณะยอดนิยม

แนวทางการเรียน ศิลปะสถาปัตย์ มหาลัยต่างๆ

ARCHITECTUREสถาปัตยกรรม--ให้นึกถึง งานโครงสร้าง เกี่ยวกับ ตึกรา บ้านช่อง ภายนอก การก่อสร้างความสวยงามทางสถาปัตยกรรมแน่นอน งานเยอะ มักๆๆ และ คุณ ต้องมีแววในการ เป็น เดะถาปัตย์ อย่างเต็มตัว และพร้อมยอมรับ กับความตั้งใจ
INTERIOR DESIGNสถาปัตยกรรมภายใน หรือ ที่เรารู้จักกันดี แบบเท่ๆว่า --ออกแบบตกแต่งภายใน ก็ จะเกี่ยวกับงานออกแบบภายใน บ้านพักอาศัย ตลอดจน โปรเจค ต่างๆไม่ว่าจะเป็น การออกแบบสถานที่ต่างๆ ขอบอกว่า คณะนี้ ที่น้องกำลังจะคิดเข้าเนี่ย ....งานเยอะมากกกกกก แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน แล้วจะรู้จักคำว่า ไม่ได้นอน เป็นไง แต่แน่นอนเรียน จบมา คุณคือ อินทีเรียดีไซด์ ตัวจริง...
PRODUCT DESIGNออกแบบผลิตภัณฑ์ --คณะนี้ จะสามารถ โยง ไปในเรื่อง ของตลาด หลักๆ คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ ในที่นี้ จะ เป็นงานออกแบบ ที่ จบใน ตัวๆ งาน ตัวนึง เช่น ออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า ออกแบบพัฒนาดีไซด์ผลิตภัณฑ์ต่างๆตามท้องตลาด ทุกประเภท เป็นต้น และ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง เฟอร์นิเจอร์ สื่อกราฟฟิก บรรจุภัณฑ์ บางที่จนอาจโค ถึง INTERIOR DESIGN คณะนี้ ขอบอกว่า ไม่อดตายนะครับ .. เพราะ ว่า คนที่เรียนคณะ สาขานี้ สามารถแทรกตัว ไปตามที่ต่างๆได้ ตามที่ ที่เรียกว่า ตลาด ก็คือ กลุ่มลูกค้า ที่นิยมความสวยงามสะดวกสบายและความพอใจของลูกค้านั่นเอง
GRAPHIC DESIGN หรือ ที่เรา เรียกกัน ว่า นิเทศน์ศิลป์คณะสาขา แขนงนี้ คุณ ต้อง เป็น นักคิดตัวยง เลยในที่เดียว คณะ นี้ จะเรียนเกี่ยว กับ โฆษณา โดยตรง ของ ครีเอทีฟ การสรางสรรค์ สื่องานต่างๆ โดย มีการเสนองาน ในรูปแบบต่างๆ เช่น การถ่ายภาพ การนำเสนอถ่ายทอด ให้ลูกค้า ยอมรับโดยสมัยนี้ นิยม เน้นทางคอมพิวเตอร์ เป็นหลัก แต่หลักแรกๆ คุณ ต้องเบื่อกับ การใช้สีโปสเตอร์ไปพรางๆก่อน
แนวทางคณะ ที่สามารถพุ่งตรงไปได้ ในทางสถาปัตย์ ได้เลยแหละ ถ้า อยาก เข้า มหาลัย ดีๆ ความพร้อมกับ การเตรียมตัว เป็นเรื่องที่ สำคัญ
ปัจจุบัน มหาลัย รัะดับ ปริญญาตรี ที่ทุกคน มักต่างพุ่ง เข้าไปสอบเข้าก่อนอื่น ขอบอกไว้นะครับว่า การเตรียมตัว คือ สิ่งที่ดี แต่ถ้า พลาด ขอให้ ยอมรับและ พึงระลึก คิดไว้ ว่า เรียนที่ไหน ก็ เหมือนกัน ไม่จำเป็น ต้อง เลือก อันดับเดียว ..อย่าเสียใจ กับ ความรู้ ที่เราเลือก เพราะความรัก
มหาวิทยาลัย ที่อยู่ ใน กรุงเทพ จุฬาลงกรณ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มศว.คณะศิลปกรรมศาสตร์ม.ศิลปากร มัณฑณศิลป์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาปัตย์กรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ สถาปัตย์กรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (คลอง6) คณะ ศิลปกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง คณะศิลปกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย คณะสถาปัตย์กรรม
ถ้า พลาด ม.เอกชน ก็ จะมี ม.กรุงเทพ และ ม.รังสิต คณะศิลปกรรม หลักๆ ก็มี INTERIOR DESIGN,PRODUCT DESIGNม.ศรีปทุม สถาปัตย์..และ ราชภัฏที่ต่างๆ ซึ่งตอนนี้รองรับคณะศิลปกรรม เกือบทุกที่แล้ว
ที่มา http://www.eduzones.com/

ศิลปะสำคัญอย่างไร

ศิลปะสำคัญอย่างไร นายสมพงษ์ คงทอง สถาบันทักษิณคดีศึกษา
กระบวนการสร้างสรรค์ งานทางศิลปะ อาจเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังเรื่องราวทางศิลปะ การสอนศิลปะให้เด็กและเยาวชนให้เขาได้เริ่มซึมซับรับรู้ความงดงามจากการมองเห็นสีสัน สัมผัสกับรูปทรงที่หลากหลายจากง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก เพื่อใหรู้จักถึงความแตกต่างอันเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัว การที่เด็กได้รับการสอนให้รู้จักขีดเขียน วาดภาพ ระบายสี ผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ตามจินตนาการย่อมเป็นความภาคภูมิใจ แม้จะเป็นผลงานเล็กน้อยแต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ตน ผสมผสานกับคำชื่นชมและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เปรียบกับการได้รับการเอาใจใส่ดูแลเพื่อจุดหมายที่จะสร้างให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ งานศิลปะจะหล่อหลอมจิตใจให้ละเอียดอ่อน มีสมาธิ มีความตั้งใจและหากได้รับการปลูกฝังดูแลอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งเมื่อเขาเติบโตขึ้นวิถีทางศิลปะอาจจะเป็นทางเลือกสำหรับอนาคตของเขาก็ได้
โครงการจัดประกวดผลงานศิลปกรรมเยาวชนทักษิณ เป็นโครงการหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะส่งเสริม ปลูกฝัง ให้เยาวชนมีรากฐานทางศิลปะ โดยส่งเสริมให้เยาวชนสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการได้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ส่งผลงานศิลปกรรมเข้าร่วมประกวด เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๖ จวบจนถึงปัจจุบันนับเป็น ครั้งที่ ๕ ซึ่งแต่ละปีมีเยาวชนจาก ๑๔ จังหวัดส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก และสำหรับผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัล และได้คัดเลือกเข้าร่วมแสดง ก็ได้นำผลงานทั้งหมดมาจัดแสดงแดงนิทรรศการ
ณ อาคารอาศรมศิลปกรรมทักษิณ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป
งานศิลปะร่วมสมัยจำแนกได้เป็นหลายสาขา และดูเหมือนว่าสาขาทัศนศิลป์จะเป็นสาขาหนึ่งที่มีความเข้มแข็งมาก ซึ่งอาจมาจากปัจจัยเรื่องของจำนวนศิลปินที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ และงานสาขาวรรณศิลป์ เป็นงานศิลปะอีกสาขาหนึ่งที่ไม่หยุดนิ่งกับที่ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยซึ่งขณะนี้มีนายกสมาคมฯ และทีมงานที่ขยันขันแข็งในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง จัดค่ายอบรมทักษะการสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ให้กับเยาวชน ซึ่งก็เป็นการสร้างรากฐานทางศิลปะสาขาวรรณศิลป์อีกเหมือนกัน และสถาบันทักษิณคดีศึกษา ก็ได้จัดกิจกรรม เพื่อเป็นการสร้างรากฐานให้กับเยาวชน อย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อวันที่ ๑๘ – ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งนำโดย สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้จัดกิจกรรมสัมมนาเกี่ยวกับ การส่งเสริมบทบาทกวีและนักเขียนร่วมสมัยขึ้น และได้เชิญเหล่านักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาร่วมเป็นวิทยากร เพื่ออบรมให้ความรู้ กับเยาวชน จะเห็นได้ว่า เหล่านักเขียนมืออาชีพ ทั้งที่เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กวีซีไรต์ ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นสาขาต่าง ๆ ต่างร่วมกันปลูกฝังแง่คิด
จินตนาการที่เป็นประโยชน์หลากหลายให้แก่เยาวชนนักเขียนมือใหม่ ที่จะก้าวไปสู่เส้นทางข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งมั่นคงภายใต้จิตใจที่ละเอียดอ่อน
การสร้างรากฐานทางศิลปะ เป็นเรื่องราวที่ดีมากโดยเฉพาะ หากว่ามีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ศิลปินที่มีชื่อเสียง ทางศิลปะ รัฐ และเอกชนได้สละเวลาเพื่อการวางรากฐานของเยาวชนในสังคมให้เติบโตอย่างมีคุณค่า และสรรหาพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสาขาต่างๆ สำหรับเยาวชน ส่งเสริมให้มีการยกย่องเชิดชูศิลปินรุ่นเยาว์ที่มีความสามารถทางศิลปะสาขาต่างๆ ให้เป็นต้นแบบของเยาวชน ส่งเสริมสนับสนุนเขาเหล่านั้นให้มีโอกาสพัฒนาทักษะความสามารถทางศิลปะให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศในสาขาต่างๆ เชื่อได้ว่าในอนาคตข้างหน้าชื่อเสียงของศิลปินไทย ที่ได้รับการปลูกฝัง ปูรากฐานทางศิลปะ จำนวนหนึ่ง จะสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และโบยบินออกไปสู่สาธารณชน และอารยประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับได้ไม่ยากเลย เพราะฉะนั้นเรามาร่วมส่งเสริม และสร้างรากฐานทางศิลปะเพื่อเยาวศิลปินที่จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

13 สิงหาคม 2552

เทคนิคสีน้ำ๒

มารู้จักสีน้ำ...
May 24, '07 9:59 AMfor everyone

การให้แสง-เงาด้วยเทคนิคสีน้ำ เหมาะกับการวาดภาพวัตถุที่เป็นเงา เปียก โปร่งแสง หรือโปร่งใส ตัวอย่างวัตถุประเภทนี้ เช่น ใบบอน ใบบัว งู สีน้ำแสดงแสง-เงาของวัตถุที่พื้นผิวเป็นลอน เป็นคลื่น เช่น กะโหลก กระดูก และเปลือกหอยได้ดี นอกจากนี้เทคนิคสีน้ำแบบ dry brush ใช้กับวัตถุที่มีรายละเอียดมาก เช่น ผีเสื้อ และแมลงเล็กๆ ได้อีกด้วย สิ่งสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้ภาพสีน้ำ ได้แก่ กระดาษ มีข้อควรคำนึงถึงในการเลือกใช้กระดาษดังนี้
มีพื้นผิวขรุขระมากน้อยตามขนาดและรายละเอียดของภาพ หากภาพมีขนาดเล็ก และรายละเอียดมากควรใช้กระดาษที่มีผิวค่อนข้างเรียบ
ความหนาของกระดาษพอสมควร สามารถรับน้ำและรอยลบได้
ทนความชื้น ไม่บิดงอ จนเสียรูป ทนแสงและอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง ไม่เหลืองเมื่อทิ้งไว้นาน อย่างไรก็ดี ภาพที่จะต้องทิ้งไว้นาน ควรติดลงบนกระดาษแข็งประเภท photo board และควรติดด้วยกาวน้ำคุณภาพดี อย่าติดแน่นเกินไป เพราะหากต้องนำไปตีพิมพ์ โรงพิมพ์จะต้องแกะภาพออกและภาพอาจเสียหายได้สำหรับสี อาจใช้หมึก (ink) เช่น indian ink หรือใช้สีน้ำ (watercolor paint) สีน้ำมี 2 ลักษณะ คือ สี้นำบรรจุหลอด (tube paint) และสีน้ำแบบถาด (cake color) ข้อดีของสีน้ำแบบหลอดคือ เก็บได้ง่ายและสะดวกกว่า (หากทิ้งไว้นาน เปิดฝาไม่ออกอาจจุ่มในน้ำอุ่นสักครู่จะเปิดได้ง่ายขึ้น) แต่ข้อเสีย คือ มองไม่เห็นสีที่จะเลือกใช้ ต้องบีบออกจากหลอด ในขณะที่สีถาดนั้นเลือกสีได้ง่ายกว่า แต่เปื้อนได้ง่ายเช่นกัน ต้องล้างพู่กันให้สะอาดทุกครั้งที่จุ่มสีใหม่ และถ้าเก็บไว้นานต้องระวังฝุ่นลงไปในสี หากมีฝุ่นอยู่ในสี เมื่อวาดลงบนกระดาษจะเป็นรอยที่ไม่พึงปรารถนา เอาออกได้ยาก สีหลอดที่ใช้ได้ดี คือ ยี่ห้อ Winsor & Newton และ Grumbacher ส่วนสีถาดที่เป็นที่นิยมคือ Pelikan และ Winsor&Newton สำหรับสีขาวมักใช้ Titanium White หรือ Chinese white เพื่อวาดไฮไลท์ ใช้ลบที่ผิด หรือวาดสีขาวลงบนพื้นหลังสีดำ การเลือกซื้อสี ควรเลือกสีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่งบประมาณอำนวย การเลือกสีพิจารณาที่ความโปร่งแสงและเนื้อสี สีที่ข้นมากๆ อาจมีส่วนผสมที่ไม่ใช่เนื้อสีจึงไม่เป็นที่ต้องการ
สำหรับเครื่องมือสำคัญ ได้แก่
พู่กัน พู่กันกลมที่ดีจะสามารถลูบให้ปลายแหลมได้เมื่อเปียก ควรอมน้ำมากๆ เพื่อจะได้จุ่มสีได้มาก ไม่ต้องจุ่มสีบ่อยๆ เมื่อต้องการลากเส้นยาวๆ ขนพู่กันอาจทำด้วยขนหางม้า หรือขนอูฐ ควรเลือกขนาดพู่กันให้เหมาะสมกับขนาดภาพ สำหรับพู่กันปลายตัดที่ใช้มาก ได้แก่ ความกว้าง 6, 15 และ 25 มิลลิเมตร พูกันยี่ห้อที่นิยมใช้ได้แก่ Winsor&Newton serie 7 การใช้พู่กันอย่างถูกวิธีจะช่วยให้พู่กันมีอายุใช้งานยาวนานขึ้น ห้ามวางพู่กันทิ้งไว้ในขวดล้างเด็ดขาด ทุกครั้งที่วางให้วางนอนหรือตั้งปลายขึ้น และหากเก็บไว้นานๆ ให้จุ่มน้ำสบู่ จัดปลายให้แหลมทิ้งไว้ให้แข็ง หากจะเก็บในกล่องควรมัดรวมกัน โดยให้ปลายพูกันหันเข้าข้างใน โดยมีด้ามยื่นออกสลับทางกัน ปลายขนพู่กันจะได้ไม่กระทบกล่อง ซึ่งจะทำให้เสียรูป
จานสี อาจใช้ถาดหลุมพลาสติก หรือใช้จานกระเบื้องเคลือบสีขาวก็ได้ ในการผสมสีลงในจานสี ต้องผสมให้พอใช้ในแต่ละครั้ง เพราะหากผสมขาดอาจผสมใหม่ได้ไม่เหมือนเดิม และหากต้องเก็บข้ามวันก็ไม่จำเป็นต้องล้างสีออกทุกครั้ง โดยทิ้งให้สีแห้งแล้วเติมน้ำเมื่อจะใช้คราวต่อไป แต่หากมีฝุ่นลงไป ต้องล้างทิ้งทุกครั้ง เพราะฝุ่นจะทำให้เกิดรอยบนภาพอย่างที่ได้กล่าวแล้ว
ดินสอ ดินสอที่ใช้ในการร่างภาพสำหรับวาดสีน้ำ ควรเป็นดินสอแหลม และแข็ง เช่น 2H, H หรือ HB
ยางลบ ยางลบที่ควรมีคือ ยางลบสำหรับลบรอยดินสอร่างภาพ อาจมียางลบเพื่อลบรอยสีน้ำ ได้แก่ Pelikan plastic imbibed eraser รุ่น PT20 ด้วย
กระดาษทิชชู หรือ ผ้าขี้ริ้ว สำหรับซับสีที่เกิน และทำความสะอาดโต๊ะ
ขวดใส่น้ำล้างพู่กัน เทคนิคการวาดภาพสี้นำมี 2 เทคนิค ได้แก่ แบบกระดาษเปียก คือลงสีผสมน้ำบนกระดาษเปียก (wet-on-wet technique) และแบบกระดาษแห้ง คือลงสีผสมน้ำบนกระดาษแห้ง (wet-on-dry หรือ dry brush)

ขั้นตอนการวาดภาพสีน้ำ
ร่างภาพอย่างละเอียดชัดเจน ต้องลงตำแหน่งเสง-เงา ให้เรียบร้อย แล้วลอกภาพด้วยดินสอ 2H ถึง HB
เตรียมกระดาษทิชชูไว้ซับน้ำส่วนที่เกิน ใช้พู่กันขนาดใหญ่ลงน้ำบนกระดาษพอให้กระดาษชื้น อย่าให้มีน้ำแฉะ บริเวณขอบให้ลงน้ำเกือบถึงขอบ และอย่าให้มีจุดแห้งบนกระดาษ ภาพขนาดใหญ่ต้องชื้นมาก เพราะต้องวาดภาพทั้งภาพ หรือทั้งส่วนพร้อมๆกัน โดยไม่ให้น้ำแห้งก่อน สำหรับคนถนัดขวาให้วาดจากด้านซ้ายบนลงขวาล่าง คนถนัดซ้ายวาดจากด้านขวาบนลงซ้ายล่าง ลากสีเป็นเส้นยาวจนสุดขอบแล้ววกกลับเหลื่อมกับเส้นสีเดิม เพื่อไม่ให้เกิดรอย สีควรกลืนกันไปตลอดทั้งส่วน
ลงสีอ่อนก่อน แตะสีที่เกินบนจานสี หรือขวดน้ำ ส่วนที่เป็นไฮไลท์เว้นขาวไว้ ลงสีโดยเริ่มจาก middle tone ไปยังส่วนมืดที่สุดบนวัตถุ เข้าไปยังส่วนมืดด้านที่มีแสงสะท้อนจากสิ่งแวดล้อม แล้วจึงลงที่เงาวัตถุจากนั้นจึงเติมพื้นผิว
บริเวณที่ติดกันเป็นวัตถุต่างชิ้น ต้องรอให้สีแรกแห้งก่อน แล้วจึงลงสีถัดไป เพื่อไม่ให้สีซึมเข้าหากัน
รายละเอียดเติมได้ด้วยพู่กันเล็ก นอกจากนี้อาจเติมสีขาว ดินสอ ผงถ่าน ฯลฯ ตามความเหมาะสม สำหรับการสร้างพื้นผิวแบบต่างๆ อาจใช้ dry brush โดยรอให้สีเดิมแห้งก่อน แล้วจึงลงสีใหม่ มีหลายเทคนิคที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น ทำให้ปลายพู่กันบานออกจากกันแล้วจุ่มสีวาด ใช้ฟองน้ำ หรือ สำลีพันปลายไม้ หรือโรยเกลือ เป็นต้น
หากต้องมีเส้นขอบ ควรทำเป็นลำดับสุดท้าย โดยใช้สีเข้มกว่าวัตถุเป็นเส้นขอบ เช่น ถ้าวัตถุเป็นสีแดง ก็ใช้เส้นขอบสีเลือดหมู เป็นต้น
สำหรับเงาของวัตถุ ลงสีโดยเริ่มจากสีเข้มไปหาสีอ่อน (ตรงข้ามกับการลงสีบนวัตถุ) ถ้าเป็นภาพสี สีของเงาควรเป็นสีของวัตถุผสมสีเทา เงาวัตถุไม่ควรมีขอบ แต่ควรเป็นสีที่ค่อยๆจางไป.

12 สิงหาคม 2552

๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ครบรอบ ๑๐๐ ปี โรงเรียนสตูลวิทยา

เชิญชวนศิษย์เก่า - ศิษย์ปัจจุบัน คณะครู - อาจารย์ ร่วมงาน
ครบรอบ ๑๐๐ ปี โรงเรียนสตูลวิทยา ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓

11 สิงหาคม 2552

เทคนิคสีน้ำ(ตอนที่๑)

สีน้ำ เป็น สีที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ทั้งในแถบยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสามารถในการระบายสีน้ำ แต่ในอดีตการระบายสีน้ำมักใช้เพียงสีเดียว คือ สีดำผู้ที่จะระบายได้อย่างสวยงามจะต้องมีทักษะการใช้พู่กันที่สูงมาก การระบายสีน้ำจะใช้น้ำ เป็นส่วนผสม และทำละลายให้เจือจาง ในการใช้สีน้ำ ไม่นิยมใช้สีขาวผสมเพื่อให้มีน้ำหนักอ่อนลง และไม่นิยมใช้สีดำผสมให้มีน้ำหนักเข้มขึ้น เพราะจะทำให้เกิดน้ำหนักมืดเกินไป แต่จะใช้สีกลางหรือสีตรงข้ามผสมแทน ลักษณะของภาพวาดสีน้ำจะมีลักษณะใส บาง และ สะอาด การระบายสีน้ำต้องใช้ความชำนาญสูงเพราะผิดพลาดแล้วจะแก้ไขยากจะระบายซ้ำๆ ทับกันมากๆ ไม่ได้จะทำให้ภาพออกมามีสีขุ่น ๆ ไม่น่าดู หรือที่เรียกว่า สีเน่า สีน้ำที่มีจำหน่าย ในปัจจุบัน จะบรรจุในหลอด เป็นเนื้อสีฝุ่นที่ผสมกับกาวอะราบิค ซึ่งเป็นกาวที่สามารถละลาย น้ำได้ มีทั้งลักษณะที่โปร่งแสง ( Transparent ) และกึ่งทึบแสง ( Semi-Opaque ) ซึ่งจะมีระบุ ไว้ข้างหลอด สีน้ำนิยมระบายบนกระดาษที่มีผิวขรุขระ หยาบ
กระดาษ
ในบรรดาอุปกรณ์ทั้งหมดของการเขียนสีน้ำ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ กระดาษ ” กระดาษสีน้ำที่ดีจะมีส่วนผสมของฝ้ายถึง 100% เส้นใยที่ฟอกขาวแล้วจะถูกทำให้เหลว แล้วจัดการทำให้เป็นแผ่นๆ ด้วยกรรมวิธีต่างๆ ของผู้ผลิตกระดาษสีน้ำแทบจะทุกชนิดจะมีผิวอยู่ 3 แบบ คือ เรียบ กลางๆและหยาบและจะมีความ หนาต่างๆ กัน อีกทั้งมีหลากหลายยี่ห้อ อาทิ
D Arches ผลิตด้วยมือ ของฝรั่งเศส
Crisbrook ผลิตด้วยมือ ของอังกฤษ
Fabriano ผลิตด้วยเบ้า ของอิตาลี
Strathmore ผลิตด้วยเครื่องจักร ของอเมริกา
Capri ของอิตาลี
R.W.S. ผลิตด้วยมือของอังกฤษ (Roy Watercolor Society )
สีน้ำ
ระยะเวลาความคงทนของสีน้ำ และการผสมผสาน ในอดีต สีน้ำเป็นสีที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เมื่อรับแสงมากๆ จวบจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 สีน้ำได้รับการพัฒนาให้มีความคงทนถาวรมากขึ้นเป็น ลำดับจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ สีน้ำได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้มีความคงทนและคงความสดใสได้ดีขึ้น
สีกว็อช
สีกว็อช (Gouache) เป็นสีน้ำทึบแสงสามารถนำมาระบายหรือผสมเพื่อแสดงเนื้อสี หรือระบายเพื่อแสดงความโดดเด่นจากพื้นหลัง นิยมนำมาใช้ในแวดวงเขียนแบบสถาปัตยกรรม
ลักษณะและคุณสมบัติของสีน้ำ
ลักษณะเฉพาะที่เด่นของสีน้ำ คือ “ ความโปร่งใส ” (TRANSPARENT) เวลาที่ระบายใช้พู่กันแตะสีละลายกับน้ำ พยายามระบายครั้งเดียว ไม่ควรระบายสีต่างๆ ซ้ำหรือทับกันหลายๆ หน เพราะจะทำให้สีหม่นขาดคุณสมบัติที่โปร่งใส - สะอาด สีน้ำมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เนื้อสีที่บดแล้วอย่างละเอียด(Pigment) ผสมกับกาวอาระบิค ซึ่งสกัดมาจากต้นอะคาเซีย(ACACIA TREE)กาวชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือละลายน้ำง่ายและเกาะติดกระดาษ แน่น อีกทั้งยังมีลักษณะที่โปร่งใส ( ในกรณีที่ต้องการใช้กาวชนิดอื่นแทนก็ใช้น้ำผึ้ง หรือ กลีเซอรีน ซึ่ง ละลายน้ำได้ดี )
คุณสมบัติทั่วไปของสีน้ำ
ลักษณะโปร่งใส ( TRANSPARENT QUALITY )
เนื่องจากสีน้ำมีส่วนผสมของกาว และเนื้อสีที่บดละเอียดเพราะฉะนั้นเมื่อระบายบนกระดาษขาว(หรือสีอ่อนๆ) จึงมีเนื้อสีไม่หนาทึบจนเกินไป ทำให้เกิดลักษณะโปร่งใส การระบายสีน้ำควรระบายไปทีเดียว ไม่ควรที่จะระบายซ้ำกัน หรือซ้อนทับไปมาเหมือนสีน้ำมัน เพราะจะทำให้สีขุ่น บางทีอาจทำให้สีหลุด ออกมา ทำให้ด่างหรือช้ำๆ ภาษาง่ายๆ ก็คือเน่า
ลักษณะเปียกชุ่ม ( SOFT QUALITY )
ในการระบายสีน้ำ ตัวทำละลายก็คือน้ำ ซึ่งการควบคุมน้ำเพื่อนำมาผสมสี และระบายให้ซึมเข้าหากัน ระหว่างสีก็ใช้น้ำ ดังนั้นเมื่อระบายไปแล้วลักษณะของสีที่แห้งบนกระดาษ จะคงความเปียกชุ่มของสน้ำี ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ในบางกรณีถ้าใช้สีที่มีน้ำระบายชุ่มบ้างเปียกบ้างแห้งบ้าง แล้วปล่อยให้แห้งก็จะ เกิดคราบของสี ( SFUMATO ) ปรากฏให้เห็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของสีน้ำ
การขึงกระดาษ
การขึงกระดาษสีน้ำ เป็นการรักษาสภาพความราบเรียบของพื้นภาพ เมื่อระบายสีน้ำให้เปียกชื้นมาก ควรขึงกระดาษทุกน้ำหนัก เมื่อขึงแล้วก็สามารถจะระบายให้เปียกชุ่มอย่างไรก็ได้ การขึงกระดาษจะต้องทำให้กระดาษเปียกชื้นเสียก่อน เพื่อขยายเส้นใยของกระดาษ หลังจากนั้นจึงติดกระดาษให้รอบด้าน มีหลักในการทำดังนี้
• จุ่มกระดาษให้เปียกทั่วถึงกระดาษ 90 ปอนด์แช่น้ำ 3 นาที 14 ปอนด์ 8 นาที และ 300 ปอนด์ 20 นาที (โดยประมาณ)
• ซับน้ำให้หมาดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้วยกระดาษบรู๊ฟ
• ถ้าใช้แผ่นรองเขียนเป็นไม้อัด ควรทาแลคเกอร์เคลือบเสียก่อน หรืออาจใช้กระดาษบรู๊ฟสะอาดรองพื้น
• ใช้กระดาษกาวชนิดทาน้ำ ( ไม่ใช่เทปย่น ) ผนึกติดทุกด้าน โดยเริ่มต้นทีละด้าน
• วางแผ่นรองบนพื้นราบและปล่อยไว้ให้แห้งด้วยลม ไม่ควรนำไปตากแดด
กระดาษสีน้ำชนิดผนึกเป็นปึก (เล่ม)
กระดาษสีน้ำชนิดผนึกเป็นปึก เป็นกระดาษสีน้ำที่ผนึกรวมอยู่ด้วยกันโดยการทากาวติดไว้ที่ด้านข้างเว้นไว้เพียงเล็กน้อยด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับใช้เกรียงระบายสีสอดเข้าไปเพื่อแยกกระดาษออกจากปึกกระดาษลักษณะนี้เหมาะสำหรับการนำออกไปเขียนข้างนอก โดยไม่ต้องขึงกระดาษ ไม่ต้องหอบแผ่นรองที่มีน้ำหนักมากออกไป และไม่ต้องกังวลเมื่อข้างนอกมีลมพัดแรง

01 สิงหาคม 2552

ความรู้ทางศิลปะ

จิตรกรรม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปที่:
ป้ายบอกทาง, ค้นหา


ภาพ โมนาลิซา เป็นหนึ่งในภาพจิตรกรรมที่เป็นที่จดจำได้มากที่สุดในโลกตะวันตก
จิตรกรรม เป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการวาด ระบายสี และการจัดองค์ประกอบความงามอื่น เพื่อให้เกิดภาพ 2 มิติ ไม่มีความลึกหรือนูนหนา จิตรกรรมเป็นแขนงหนึ่งของทัศนศิลป์ ผู้ทำงานจิตรกรรม มักเรียกว่า จิตรกร
จอห์น แคนาเดย์ (John Canaday) ได้ให้ความหมายของจิตรกรรมไว้ว่า จิตรกรรม คือ การระบายชั้นของสีลงบนพื้นระนาบรองรับ เป็นการจัดรวมกันของรูปทรง และ สีที่เกิดขึ้นจากการเตรียมการของศิลปินแต่ละคนในการเขียนภาพนั้น พจนานุกรมศัพท์ อธิบายว่า เป็นการสร้างงานทัศนศิลป์บนพื้นระนาบรองรับ ด้วยการ ลาก ป้าย ขีด ขูด วัสดุ จิตรกรรมลงบนพื้นระนาบรองรับ
ภาพจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่เป็นที่รู้จักอยู่ที่ถ้ำ Chauvet ใน
ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่ามีอายุราว 32,000 ปีเป็นภาพที่สลักและระบายสีด้วยโคลนแดงและสีย้อมดำ แสดงรูปม้า แรด สิงโต ควาย แมมมอธ หรือมนุษย์ ซึ่งมักจะกำลังล่าสัตว์

[แก้] การจำแนก
จำแนกได้ตามลักษณะผลงานที่สิ้นสุด และ วัสดุอุปกรณ์การสร้างสรรค์เป็น 2 ประเภท คือ
ภาพวาด และ ภาพเขียน
จิตรกรรมภาพวาด (Drawing) จิตรกรรมภาพวาด เรียกเป็นศัพท์ทัศนศิลป์ภาษาไทยได้หลายคำ คือ ภาพวาดเขียน ภาพวาดเส้น หรือบางท่านอาจเรียกด้วยคำทับศัพท์ว่า ดรอวิ้ง ก็มี ปัจจุบันได้มีการนำอุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการเขียนภาพและวาดภาพ ที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากมาใช้ ผู้เขียนภาพจึงจึงอาจจะใช้อุปกรณ์ต่างๆมาใช้ในการเขียนภาพ ภาพวาดในสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาพวาดลายเส้น และ การ์ตูน
จิตรกรรมภาพเขียน (Painting) ภาพเขียนเป็นการสร้างงาน 2 มิติบนพื้นระนาบด้วยสีหลายสีซึ่งมักจะต้องมีสื่อตัวกลางระหว่างวัสดุกับอุปกรณ์ที่ใช้เขียนอีก ซึ่งกลวิธีเขียนที่สำคัญ คือ
การเขียนภาพ
สีน้ำ (Colour Painting)
การเขียนภาพสีน้ำมัน (Oil Painting)
การเขียนภาพ
สีอะคริลิค (Acrylic Painting)
การเขียนจิตรกรรมฝาผนัง (Fresco Painting)
จิตรกรรมแผง(Panel Painting)
จำแนกตามยุคสมัยและแหล่งสร้างสรรค์ เช่น
จิตรกรรมไทย
จิตรกรรมยุคกอธิค
จิตรกรรมยุคบาโรก
จิตรกรรมยุคอิมเพรสชันนิสม์
จิตรกรรมยุคอิมเพรสชันนิสม์สมัยหลัง
จิตรกรรมยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้น
จิตรกรรมยุคเรอเนซองส์
จิตรกรรมยุคแมนเนอริสม์
จิตรกรรมสมัยใหม่