11 สิงหาคม 2552

เทคนิคสีน้ำ(ตอนที่๑)

สีน้ำ เป็น สีที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ทั้งในแถบยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสามารถในการระบายสีน้ำ แต่ในอดีตการระบายสีน้ำมักใช้เพียงสีเดียว คือ สีดำผู้ที่จะระบายได้อย่างสวยงามจะต้องมีทักษะการใช้พู่กันที่สูงมาก การระบายสีน้ำจะใช้น้ำ เป็นส่วนผสม และทำละลายให้เจือจาง ในการใช้สีน้ำ ไม่นิยมใช้สีขาวผสมเพื่อให้มีน้ำหนักอ่อนลง และไม่นิยมใช้สีดำผสมให้มีน้ำหนักเข้มขึ้น เพราะจะทำให้เกิดน้ำหนักมืดเกินไป แต่จะใช้สีกลางหรือสีตรงข้ามผสมแทน ลักษณะของภาพวาดสีน้ำจะมีลักษณะใส บาง และ สะอาด การระบายสีน้ำต้องใช้ความชำนาญสูงเพราะผิดพลาดแล้วจะแก้ไขยากจะระบายซ้ำๆ ทับกันมากๆ ไม่ได้จะทำให้ภาพออกมามีสีขุ่น ๆ ไม่น่าดู หรือที่เรียกว่า สีเน่า สีน้ำที่มีจำหน่าย ในปัจจุบัน จะบรรจุในหลอด เป็นเนื้อสีฝุ่นที่ผสมกับกาวอะราบิค ซึ่งเป็นกาวที่สามารถละลาย น้ำได้ มีทั้งลักษณะที่โปร่งแสง ( Transparent ) และกึ่งทึบแสง ( Semi-Opaque ) ซึ่งจะมีระบุ ไว้ข้างหลอด สีน้ำนิยมระบายบนกระดาษที่มีผิวขรุขระ หยาบ
กระดาษ
ในบรรดาอุปกรณ์ทั้งหมดของการเขียนสีน้ำ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ กระดาษ ” กระดาษสีน้ำที่ดีจะมีส่วนผสมของฝ้ายถึง 100% เส้นใยที่ฟอกขาวแล้วจะถูกทำให้เหลว แล้วจัดการทำให้เป็นแผ่นๆ ด้วยกรรมวิธีต่างๆ ของผู้ผลิตกระดาษสีน้ำแทบจะทุกชนิดจะมีผิวอยู่ 3 แบบ คือ เรียบ กลางๆและหยาบและจะมีความ หนาต่างๆ กัน อีกทั้งมีหลากหลายยี่ห้อ อาทิ
D Arches ผลิตด้วยมือ ของฝรั่งเศส
Crisbrook ผลิตด้วยมือ ของอังกฤษ
Fabriano ผลิตด้วยเบ้า ของอิตาลี
Strathmore ผลิตด้วยเครื่องจักร ของอเมริกา
Capri ของอิตาลี
R.W.S. ผลิตด้วยมือของอังกฤษ (Roy Watercolor Society )
สีน้ำ
ระยะเวลาความคงทนของสีน้ำ และการผสมผสาน ในอดีต สีน้ำเป็นสีที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เมื่อรับแสงมากๆ จวบจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 สีน้ำได้รับการพัฒนาให้มีความคงทนถาวรมากขึ้นเป็น ลำดับจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ สีน้ำได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้มีความคงทนและคงความสดใสได้ดีขึ้น
สีกว็อช
สีกว็อช (Gouache) เป็นสีน้ำทึบแสงสามารถนำมาระบายหรือผสมเพื่อแสดงเนื้อสี หรือระบายเพื่อแสดงความโดดเด่นจากพื้นหลัง นิยมนำมาใช้ในแวดวงเขียนแบบสถาปัตยกรรม
ลักษณะและคุณสมบัติของสีน้ำ
ลักษณะเฉพาะที่เด่นของสีน้ำ คือ “ ความโปร่งใส ” (TRANSPARENT) เวลาที่ระบายใช้พู่กันแตะสีละลายกับน้ำ พยายามระบายครั้งเดียว ไม่ควรระบายสีต่างๆ ซ้ำหรือทับกันหลายๆ หน เพราะจะทำให้สีหม่นขาดคุณสมบัติที่โปร่งใส - สะอาด สีน้ำมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เนื้อสีที่บดแล้วอย่างละเอียด(Pigment) ผสมกับกาวอาระบิค ซึ่งสกัดมาจากต้นอะคาเซีย(ACACIA TREE)กาวชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือละลายน้ำง่ายและเกาะติดกระดาษ แน่น อีกทั้งยังมีลักษณะที่โปร่งใส ( ในกรณีที่ต้องการใช้กาวชนิดอื่นแทนก็ใช้น้ำผึ้ง หรือ กลีเซอรีน ซึ่ง ละลายน้ำได้ดี )
คุณสมบัติทั่วไปของสีน้ำ
ลักษณะโปร่งใส ( TRANSPARENT QUALITY )
เนื่องจากสีน้ำมีส่วนผสมของกาว และเนื้อสีที่บดละเอียดเพราะฉะนั้นเมื่อระบายบนกระดาษขาว(หรือสีอ่อนๆ) จึงมีเนื้อสีไม่หนาทึบจนเกินไป ทำให้เกิดลักษณะโปร่งใส การระบายสีน้ำควรระบายไปทีเดียว ไม่ควรที่จะระบายซ้ำกัน หรือซ้อนทับไปมาเหมือนสีน้ำมัน เพราะจะทำให้สีขุ่น บางทีอาจทำให้สีหลุด ออกมา ทำให้ด่างหรือช้ำๆ ภาษาง่ายๆ ก็คือเน่า
ลักษณะเปียกชุ่ม ( SOFT QUALITY )
ในการระบายสีน้ำ ตัวทำละลายก็คือน้ำ ซึ่งการควบคุมน้ำเพื่อนำมาผสมสี และระบายให้ซึมเข้าหากัน ระหว่างสีก็ใช้น้ำ ดังนั้นเมื่อระบายไปแล้วลักษณะของสีที่แห้งบนกระดาษ จะคงความเปียกชุ่มของสน้ำี ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ในบางกรณีถ้าใช้สีที่มีน้ำระบายชุ่มบ้างเปียกบ้างแห้งบ้าง แล้วปล่อยให้แห้งก็จะ เกิดคราบของสี ( SFUMATO ) ปรากฏให้เห็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของสีน้ำ
การขึงกระดาษ
การขึงกระดาษสีน้ำ เป็นการรักษาสภาพความราบเรียบของพื้นภาพ เมื่อระบายสีน้ำให้เปียกชื้นมาก ควรขึงกระดาษทุกน้ำหนัก เมื่อขึงแล้วก็สามารถจะระบายให้เปียกชุ่มอย่างไรก็ได้ การขึงกระดาษจะต้องทำให้กระดาษเปียกชื้นเสียก่อน เพื่อขยายเส้นใยของกระดาษ หลังจากนั้นจึงติดกระดาษให้รอบด้าน มีหลักในการทำดังนี้
• จุ่มกระดาษให้เปียกทั่วถึงกระดาษ 90 ปอนด์แช่น้ำ 3 นาที 14 ปอนด์ 8 นาที และ 300 ปอนด์ 20 นาที (โดยประมาณ)
• ซับน้ำให้หมาดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้วยกระดาษบรู๊ฟ
• ถ้าใช้แผ่นรองเขียนเป็นไม้อัด ควรทาแลคเกอร์เคลือบเสียก่อน หรืออาจใช้กระดาษบรู๊ฟสะอาดรองพื้น
• ใช้กระดาษกาวชนิดทาน้ำ ( ไม่ใช่เทปย่น ) ผนึกติดทุกด้าน โดยเริ่มต้นทีละด้าน
• วางแผ่นรองบนพื้นราบและปล่อยไว้ให้แห้งด้วยลม ไม่ควรนำไปตากแดด
กระดาษสีน้ำชนิดผนึกเป็นปึก (เล่ม)
กระดาษสีน้ำชนิดผนึกเป็นปึก เป็นกระดาษสีน้ำที่ผนึกรวมอยู่ด้วยกันโดยการทากาวติดไว้ที่ด้านข้างเว้นไว้เพียงเล็กน้อยด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับใช้เกรียงระบายสีสอดเข้าไปเพื่อแยกกระดาษออกจากปึกกระดาษลักษณะนี้เหมาะสำหรับการนำออกไปเขียนข้างนอก โดยไม่ต้องขึงกระดาษ ไม่ต้องหอบแผ่นรองที่มีน้ำหนักมากออกไป และไม่ต้องกังวลเมื่อข้างนอกมีลมพัดแรง