27 สิงหาคม 2552

พระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาศิลปไทยจากพระเทวาภินิมมิต และศิลปินอาวุโสได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อร่วมปฏิสันถาร ถวายคำปรึกษาแด่พระองค์ มีหลายคนดังนี้คือ ครูเหม เวชกร, เขียน ยิ้มศิริ, จำรัส เกียรติก้อง, เฟื้อ หริพิทักษ์, ไพทูรณ์ เมืองสมบูรณ์, จุลทัศน์ พยาฆรานนท์, เฉลิม นาคีรักษ์, อวบ สาณะเสน และพิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ครั้งที่ประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี พ.ศ. 2480 - 2484 โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนจากตำราที่ทรงซื้อ และมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย และเมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงาน จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์ของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี ผลงานจิตรกรรมซึ่งทรงเขียนภาพเหมือนในยุคแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2502 - 2503 ทรงศึกษาความถูกต้องจากต้นแบบ และใช้ฝีแปรงระบายแสงเงาอย่างนุ่มนวล บรรยากาศและท่าทางของแบบที่จัดวางจะเป็นภาพด้านหน้า และด้านข้างตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเขียนภาพที่มีลักษณะเป็นภาพนามธรรมมากขึ้น เช่น ภาพมือแดง และในระยะต่อ ๆ มา ทรงเขียนภาพผสมผสานระหว่างข้อมูลที่ทรงเห็นจากธรรมชาติกับพระราชดำริส่วนพระองค์ จนเกิดเป็นรูปทรงของสิ่งที่ทรงเห็น แต่มีการตัดทอนพิ่มเติมตามแนวความคิดส่วนพระองค์ จนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ขึ้น เมือ่ได้เห็นผลงานก็จะนึกถึงที่มาของเรื่องราวได้ และที่ยังคงมีอยู่ก็คือเรื่องราวเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับคนและใบหน้า และเริ่มมีบางภาพที่มีรูปร่างของคนเต็มตัว เทคนิคในการเขียนภาพที่เคยใช้ฝีแปรงนุ่มนวลเปลี่ยนแปลงไป ทรงเขียนสีน้ำมันทับซ้อนหนาเป็นก้อน และใช้ฝีแปรงที่มีความเคลื่อนไหวฉับพลันมากขึ้น การแสดงออกของสีเปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริง มีลักษณะส่วนตัวมากขึ้น การตัดทอนโครงเส้นเกิดขึ้นตามจินตนาการ และการเขียนภาพกึ่งนามธรรมนั้น ภาพแต่ละภาพจะมีเนื้อหาตามความคิดของพระองค์เป็นแนวทางกำหนด องค์ประกอบของเส้น รูปทรง และสี ที่ทรงใช้จะสอดคล้องตามแนวคิดของภาพนั้นๆ

ศิลปินของโลก

โอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) เป็นชาวอิตาลี (เกิดที่เมืองวินชี วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 1995 (ค.ศ. 1452) - เสียชีวิตที่เมืองออมบัวซ์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2062 (ค.ศ. 1519)) เป็นอัจฉริยบุคคลที่มีความสามารถหลากหลาย เป็นทั้ง สถาปนิกแบบเรอเนซองส์ นักดนตรี นักกายวิภาค นักประดิษฐ์ วิศวกร ประติมากร นักเรขาคณิต นักวาดภาพ. ดา วินชี มีงานศิลปะที่มีชื่อเสียงหลายชิ้น เช่น อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) และ โมนา ลิซ่า (Mona Lisa) งานของ ดา วินชี ยังสร้างคุณประโยชน์กับวิชากายวิภาคศาสตร์ ดาราศาสตร์ รวมถึงวิศวกรรมโยธา ด้วยความที่เป็นบุรุษที่มีจิตวิญญาณที่รักในศาสตร์หลายแขนง เลโอนาร์โดทำให้เกิดจิตวิญญาณของสหวิทยาการในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และกลายเป็นบุคคลสำคัญของยุคนั้นชีวประวัติเลโอนาร์โด เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน โดยที่ๆเขาเกิดอยู่ห่างจากหมู่บ้านวินชี ในประเทศอิตาลี ไปราวสองกิโลเมตร บิดาชื่อนายแซร์ ปีเอโร ดา วินชี เป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารของรัฐ มารดาชื่อคาตารีนา เป็นสาวชาวนา เคยมีคนอ้างว่านางคาตารีนาเป็นทาสสาวจากประเทศแถบตะวันออกในครอบครองของปีเอโร แต่ก็ไม่มีหลักฐานเด่นชัดในสมัยนั้นยังไม่มีมาตรฐานการเรียกชื่อและนามสกุลที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในทวีปยุโรป ทำให้ชื่อและนามสกุลของดา วินชี ที่แท้จริงคือ เลโอนาร์โด ดิ แซร์ ปีเอโร ดา วินชี ซึ่งหมายความว่า เลโอนาร์โด บุตรชายของปีเอโร แห่ง วินชี แต่เลโอนาร์โดเองก็มักจะลงลายเซ็นในงานของเขาอย่างง่ายๆว่า เลโอนาร์โด หรือไม่ก็ ข้าเอง เลโอนาร์โด เอกสารสำคัญส่วนใหญ่ระบุว่าผลงานของเขาเป็นของ เลโอนาร์โด โดยไม่มี ดา วินชี พ่วงท้าย ทำให้เข้าใจได้ว่าเขาไม่ได้ใช้นามสกุลของบิดาเนื่องจากเป็นบุตรนอกสมรสนั่นเอง
ออกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) (พ.ศ. 2384 - พ.ศ. 2462) เป็นจิตรกร ชาวฝรั่งเศส บิดาเป็นช่างตัดเสื้อ เป็นบุตรคนที่ 6 จาก 7 คน ต่อมาในอายุ 23 ปี เรอนัวร์สมัครใจที่จะเป็นนักวาดภาพอิสระ เรอนัวร์เป็นจิตรกรที่ประสบความลำบากอยู่มากมาย เพราะเรอนัวร์เป็นผู้ที่ชอบวาดภาพเปลือย ในช่วง 1890 เป็นต้นไป เรอนัวร์จะวาดภาพเปลือยอย่างอิสระ ในช่วงที่เป็นไขข้ออักเสบ ถึงจะนั่งรถเข็นหรือเอาพู่กันมาติดมือข้างแข็งไว้ก็ตาม เขาก็ให้คนอื่นระบายภาพให้ คำว่า "ดอกไม้" คือคำสุดท้ายที่เรอนัวร์ได้พูดก่อนที่จะเสียชีวิตในขณะที่เขาจัดแบบที่เขาเขียน เรอนัวร์ได้เสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2462
ซัลวาดอร์ โดมิงโก เฟลีเป คาซินโต ดาลี โดเมเนช (Salvador Domingo Felipe Jacinto Dalí Doménech) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 – 23 มกราคม พ.ศ. 2532) เป็นจิตรกรชาวสเปน มีชื่อเสียงจากผลงานภาพวาดแนวเหนือจริง ดาลีเป็นลูกชายคนเดียวของบ้าน เนื่องจากก่อนที่เขาจะเกิดไม่นาน พี่ชายของเขาได้เสียชีวิตลง ทำให้พ่อและแม่ รักและหวงแหนเขามาก เขามีงานแสดงศิลปะตอนอายุ 14 ปีที่บ้านของเขาเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ เขาศึกษาศิลปะที่โรงเรียนสอนศิลปะแห่งหนึ่งในกรุงมาดริด แต่ว่าไม่เคยเข้าสอบเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะเขาคิดว่าไม่มีใครสามารถตัดสิน "ศิลปะ" ได้ และเขาก็ไม่ใส่ใจด้วยถึงแม้ว่าจะโดนไล่ออกถึงสองครั้งก็ตาม (ช่วงนี้ได้พบกับ กาเซีย ลอกา ซึ่งต่อมากลายเป็นกวีเอกคนนึงของสเปน) เขาทำทุกอย่างเพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบของต้วเอง เมื่อดาลี อายุได้ 20 ปี โดนจับข้อหาทางการเมือง อีก 5 ปีต่อมา ได้เข้าร่วมกับศิลปินกลุ่ม Surrealism มุ่งหมายเน้นความเพ้อฝันเหนือจริง และช่วงนี้เองที่เขาได้พบกับ ปาโบล ปีกัสโซ จิตรกรเอกอีกคนหนึ่ง ช่วงนี้เองที่ดาลีได้อยู่กินกับกาลา (Gala) ที่เป็นทั้งเพื่อนคู่คิด นางแบบและมีงานทำนิตยสารด้วยกัน ช่วงอายุที่ได้ 34 ปีการเขียนรูปของดาลีเริ่มพัฒนาจนกลายมาเก็นแนวที่เห็นกันในปัจจุบัน เช่น รูป Sublime Moment และรูป The Transparent Simulacrum Of The Forged Lmage ที่ถูกเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2481 ดาลี ออกไปอยู่ที่อเมริกานานถึง 8 ปี ปี พ.ศ. 2498 เริ่มเขียนงานแนวศาสนา เช่นภาพ Crucifixion (จะสังเกตุได้ว่าเขาเริ่มเบนมาทำงานแนวศาสนาประมาณปี พ.ศ. 2495) ซึ่งก็เป็นเหตุให้เขาถูกขับออกจากกลุ่ม Surrealism (แต่ดาลีบอกว่าเขานี่แหละคือ Surrealism) กาลา ภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2525 ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ดาลี ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลว รวมอายุได้ 85 ปี ซัลวาดอร์ ดาลี ได้เป็นแบบอย่างให้กั ศิลปินรุ่นหลังหลายต่อหลายคน ด้วยความที่งานของเขามีอัตตาดิบอยู่สูงและความที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ในการเขียนรูป ซัลวาดอร์ ดาลี ได้เป็นคนออกแบบสัญลักษณ์ Chupa Chups อมยิ้มที่มีขายในปัจจุบันไว้ด้วย รวมถึงสิ่งของอีกหลายอย่างในสตูดิโอของเขาเอง
ฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์ (อ่านตามการออกเสียงแบบ ภาษาดัตช์ ชื่อเต็ม Vincent Willem van Gogh เกิด 30 มีนาคม ค.ศ. 1853 – 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1890) แต่คนไทยโดยทั่วไปมักจะชินกับชื่อ วินเซ้นต์ แวน โก๊ะ มากกว่า ฟาน ก็อกฮ์ เกิดที่ เมืองบราบัง ตำบลซันเดิร์ต ประเทศฮอลแลนด์ (เป็นเมืองที่ติดกับชายแดน เบลเยียม)ในปี 1853 วันที่ 30 มีนา มีพ่อเป็นนักบวช ในศาสนาคริสต์ มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 6 คน เป็นชนชั้นกลางที่มีชีวิตแบบแคบๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เขาเป็นเด็กหนุ่มที่ดูเงอะงะ ไม่คล่องแคล่วเหมือนคนมีปมด้อย ค่อนข้างใจน้อย จึงชอบอยู่คนเดียว และมีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย อ่อนโยน มีความเมตตาต่อคนทุกข์ยาก ทำให้ทุกคนมองเขาว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ น่ารำคาญ เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาได้เข้าทำงานที่ ห้องภาพแห่งหนึ่งที่กรุงเฮก กับญาติที่ทำงานด้านศิลปะ และเมื่อเขามีอายุได้ 18 ปี เขาก็ถูกส่งตัวไปยังห้องภาพที่ สาขาปารีส ด้วยความที่เขาเป็นคนซื่อ และความเบื่อหน่ายที่ทางห้องภาพเอารูปเลวๆมาหลอกขายกับคนที่ไม่รู้จักศิลปะ เขาถึงกับบอกให้ลูกค้าไม่ให้ซื้อภาพนั้น จนกระทั่งทางร้านไม่พอใจไล่เขาออกจากงานในที่สุด หลังจากนั้น เขาจึงหันไปศึกษาทางศาสนาอย่างจริงจัง หลังจากสอบเข้าวิทยาลัยศาสนาที่นครอัมสเตอร์ดัม ได้ 14 เดือนเขาพบว่าไม่ได้อะไรตามที่เขาตั้งใจจึงเลิกเรียนเสียและได้ย้ายไปอยู่ในเหมืองถ่านหิน ในตำบลบอริเนจ เพื่อเทศนาสั่งสอน ช่วยเหลือคนทุกยาก ในเหมืองนั้น โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาอุทิศเงินจำนวนหนึ่งให้กับคนทุกยากโดยที่ตนเองมีเงินใช้อย่างจำกัด และต้องกินเศษขนมปัง ทำให้ร่างกายผอมลง และเป็น พิษไข้ เพราะการที่บริโภคที่ผิดอนามัย และความหนาวเหน็บจากองไฟกองเล็กที่ไม่อาจสู้กับความหนาวเย็นของอากาศได้ ทำให้ความงกๆเงิ่นๆ ของเขามีมากยิ่งขึ้น ฟาน ก็อกฮ์ เป็นคนที่พูดไม่เก่งทำให้การเทศนาสั่งสอนของเขาไม่อาจจับจิตชาวเหมืองได้ ประกอบกับความใจบุญของเขาทำให้คนเหล่านั้นมอง ว่าเขาเป็นคนแปลกแตกต่างจากคนเหมืองทำให้เขาเศร้าใจมาก และศาลพระก็ไม่ยอมแต่งตั้งให้เขาเป็นนักเทศน์ ในที่สุดชีวิตของเขาต้องเร่ร่อนไปอย่างไร้จุดหมาย เขาไม่ยอมแม้กระทั่งที่จะเขียนจดหมายถึง เธโอ น้องชายคนสนิทจนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1880 เขาได้เขียนจดหมายมาบอกกับ เธโอ น้องของเขาว่า เขาค้นพบแล้วว่า "ศิลปะคือ ทุกสิ่งทุกอย่างของเขา และเข้ามาแทนที่สิ่งอื่นๆจนหมด เขาใช้เวลาเพื่อศึกษามันด้วยตนเองอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นเขาเคยเขียนรูปมามั่งแต่ไม่จริงจังเท่าไหร่ แต่หลังจากนี้ต่อไปมันคือ ชีวิตจิตใจของเขา" (จดหมายที่ ฟาน ก็อกฮ์ เขียนถึงน้องชายของเขา ต่อมาในปัจจุบันก็เป็นที่ต้องการและมีความสำคัญมากต่อการชมงานศิลปะของเขา) ฟาน ก็อกฮ์ ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสายศิลปะ อย่างลำบากยากแค้น เขายิงตัวเองเข้าทางสีข้างด้านซ้าย ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฏาคม ปี 1890 หลังจากการเขียนรูปทางสามแพร่ง (Wheat Field with Crows) (งานชิ้นนี้อาจจะสื่อถึงการหาทางออกให้กับของชีวิตของเขาเอง ที่เปรียบเสมือนทาง 3 สายที่มาบรรจบกันทำให้เลือกไม่ถูกว่าจะไปทางใดต่อ) ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขาที่ทุ่งนา แต่เขาไม่ตายทันที เขาได้เอามือกดปากแผลไว้และเดินกลับมาที่ร้านกาแฟที่เขาพัก ฟาน ก็อกฮ์ สิ้นใจตายในวันอังคารที่ 29 กรกฏา ปี 1890 ท่ามกลางความเศร้าโสกเสียใจของเพื่อนๆ ศพของเขาถูกฝังไว้ในสุสานเล็กๆที่เมืองอูฟเวรซูอีรัว ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นอีก 1 ปีต่อมา เธโอ น้องชายก็สิ้นใจตายตามพี่ชายของเขาเนื่องจากโรคไต ศพของ เธโอ ถูกฝังที่นี่ และในอีก 23 ปีต่อมาภรยาของเธโอ จึงย้ายศพของเขาบางส่วนมาฝังไว้ใกล้ๆศพของ ฟานก็อกฮ์ ในที่สุดพี่น้องที่รักกันมาก ก็ได้มาอยู่ด้วยกันในสุสานเล็กๆที่เมืองอูฟเวร อย่างสงบสุขตลอดกาล
มีเกลันเจโล (Michelangelo, ผู้คนมักเข้าใจผิดเป็น ไมเคิล แองเจลโล) มีชื่อเต็มว่า มีเกลันเจโล ดี โลโดวีโก บัวนาร์โรตี ซีโมนี (Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni, 6 มีนาคม ค.ศ. 1475 - 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564) ศิลปินที่เข้าถึง 3 ศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก เขาไม่เป็นเพียงผู้ที่เข้าถึงแต่เพียงศาสตร์ด้านวิจิตรศิลป์ แต่เขายังเข้าถึงความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรม และประติมากรรมอีกด้วย เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1475 และเติบโตที่เมืองฟลอเรนซ์ ภายหลังเป็นผู้สร้างประติมากรรมหินอ่อนชื่อกระฉ่อนโลกนามว่า เดวิด (David)หลังจากที่ไปอยู่ที่กรุงโรมเมื่ออายุ 21 ปี และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 5 ปี มีเกลันเจโล สร้างประติมากรรมรูปเดวิด ตอนอายุ 26 ปี จากหินอ่อนก้อนมหึมาที่ถูกทิ้งไว้กลางเมืองฟลอเรนซ์เป็นเวลาหลายปี จึงกลายเป็นที่ฮือฮาของชาวเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีใครกล้าพอที่จะแตะต้องมันนั่นเอง ความสำเร็จหลังจากงานชิ้นนี้ ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วอิตาลี มีเกลันเจโลเดิมทีเป็นคนที่เกลียด เลโอนาโด ดาวินชี ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีอายุห่างกันถึง 23 ปี และไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนัก (คล้ายกับ การที่เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้) ในช่วงนี้ (1497-1500) เขาก็ได้สร้างประติมากรรมหินอ่อนอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า ปีเอตะ (Pietà) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวิหารเซนต์ปีเตอร์ (St. Peters Basilica) ที่กรุงโรมตอนอายุได้ 30 ปี เขาได้ถูกเชิญให้กลับมาที่กรุงโรม เพื่อออกแบบหลุมฝังศพให้กับ พระสันตะปาปาจูเลียส ที่ 2 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 ปี หลังจากแก้หลายครั้งหลายครา จนมาสำเร็จในปี 1545 ต่อมาในปี 1546 เขาเป็นสถาปนิกคนสำคัญในการสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม ที่มีความยิ่งใหญ่และงดงามเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลก โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโดมขาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ในกรุงโรม ตลอด 30 ปี ช่วงนี้นั้นเองที่เขาเขียนภาพระดับโลกไว้มากมาย โดยเฉพาะ The Last Judgement(Last Judgment) ซึ่งเขาใช้เวลาในการเขียนภาพขนาดยักษ์นี้นานถึง 6 ปีมีเกลันเจโล บัวนาร์โรตี เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 90 ปี ซึ่งมีคำกล่าวจาก พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ว่า ทรงยินดีบั่นทอนชีวิตของท่านลง เพื่อแลกกับชีวิตของ มิเกลันเจโล ให้ยืนยาวออกไปอีก

ความหมายศิลปะ

ความหมายของคำว่า "ศิลปะ"
ความหมายของคำว่าศิลปะจะแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของแต่ละคน และความคิดอ่านของคนในสังคมแต่ละยุคแต่ความหมายโดยรวมของศิลปะคือ งานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจ งานศิลปะอาจจะสวยงามหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีส่วนเสริมสร้างจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น และศิลปะนั้นอาจแสดงออกมาในรูปที่เป็นศีลธรรมหรือไม่เป็นศีลธรรมก็ได้ - นักปรัชญาโบราณ ถือว่า ศิลปะมีพื้นฐานมาจากความงามและความดี - โสเครตีส เชื่อว่า ศิลปะเป็นความงามที่ได้จากธรรมชาติและต้องมีผลเสริมสร้างทางด้านจิตใจด้วย - ลียอป ตอลสตอย กล่าวว่า ศิลปะที่มีแต่ความประณีต ความงาม ความบันเทิงหาใช่เป็นศิลปะไม่ เป็นแต่เพียงงานฝีมือเท่านั้น เพราะเป็นงานที่ขาดเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งของศิลปะ - เพลโต กล่าวว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และจะต้องมาจากความดีด้วย ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจและนิยมความงามในศิลปะได้มีเพียงนักปรัชญาเท่านั้น - ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เชื่อว่า ศิลปะเป็นสะพานที่เชื่อมคติความเชื่อทางวัตถุกับทางจิตใจ - นักโบราณคดี เห็นว่า ศิลปกรรมย่อมเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญในอดีต และศิลปะย่อมเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ดีที่สุด - นักปรัชญาปัจจุบัน เชื่อว่า ศิลปะคือการสะท้อนความจริงของชีวิตตามที่เป็นอยู่จริง และความแท้จริงนั่นคือความงาม ซึ่งความงามของศิลปะนั้นอาจจะหมายถึงการพรรณนาเรื่องราวในชีวิตทั้งในแง่ดีและไม่ดีก็ได้ - ศิลปิน เห็นว่า ศิลปะคือนามธรรมที่เกิดจากธรรมชาติ โดยต้องมีการสร้างสรรค์ การรู้คุณค่า (Appreciation) คือ การรู้ค่าของจิตรกรรมหรือศิลปกรรมชนิดอื่น ๆ การรู้จักคุณค่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เสมอไป ผู้ที่ไม่มีความรู้เลยอาจจะรู้จักคุณค่าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ดีกว่าคนที่มีความรู้และศึกษามาโดยตรงก็ได้

สีโปสเตอร์

ข้อควรรู้่กี่ยวกับสีโปสเตอร์
เมื่อซื้อสีโปสเตอร์มาใหม่ ให้เปิดขวดใช้ไม้กวนสีในขวดให้ทั่วจนสีเป็นเนื้อเดียวกัน
พู่กันสำหรับสีโปสเตอร์ ใช้ได้ทั้งชนิดปลายกลมและปลายแบน ควรมีขนที่อ่อนนุ่ม พู่กันแบบเบอร์เล็ก เช่น เบอร์ 4,5,6 ใช้เกลี่ยไล่ให้สีกลืนได้ดีในการวาดแบบมีแสงเงา
จานสีที่ใช้ควรเป็นจานสีที่มีหลุมกลมลึก ไม่ควรใช้จานสีที่เป็นช่องสี่เหลี่ยม เพราะเวลาที่กวนสีจะทำให้สีไม่เข้ากันดี เวลาระบายจะทำให้สีด่าง จานสีที่มีสีขาวจะช่วยให้ผสมสีไม่ผิดเพี้ยน
การผสมสีโปสเตอร์ควรผสมน้ำให้พอเหมาะ คือ ไม่ข้นหรือเหลวเกินไป แล้วต้องมีการกวนสีให้มากๆ ไม่ว่าจะใช้สีใดควรมีสีขาวผสมอยู่ด้วย ที่กล่าวมาคือวิธีที่จะทำให้ระบายสีได้เรียบสวยงาม
ถ้าต้องการระบายสีโปสเตอร์ให้เกิดแสงเงามีวิธีระบาย คือลงสีอ่อนก่อนไปหาสีแก่หรือลงสีเข้มแล้วไล่หาสีอ่อน แต่วิธีที่แนะนำคือให้สังเกตหาสีกลาง ระบายสีกลางนั้นก่อนแล้วจึงไล่เงาสีเข้ม ส่วนแสงลงด้วยสีอ่อนเกลี่ยให้กลืนกัน
การใช้ฟองน้ำแทนพู่กัน ใช้ปลายนิ้วบีบฟองน้ำ (สำหรับล้างจาน) ให้แน่นเล็กจะตามต้องการเช็ดให้หมาด แล้วนำไปแตะซ้ำๆ กัน บนภาพตามแสงเงา จะได้ภาพสวยงามไม่แพ้พู่กันกลม (AIR BRUSH)
ในงานที่ไม่พิถีพิถันมากนัก หรือเพื่อความประหยัด ใช้สีโปสเตอร์ผสมน้ำแล้วไปกรองด้วยผ้าสกรีนหรือผ้าอื่น นำไปใช้กับพู่กันกลมได้
ถ้าไม่สามารถเขียนสีโปสเตอร์ให้มีกรอบที่คมชัดได้ ก็ใช้เครื่องทุนแรงช่วย เช่นใส่สีในปากกาตีเส้นปรับขนาดเส้นตามต้องการ หรือใช้กระดาษกาวสำหรับกันสี หาซื้อได้จากร้านเครื่องก่อสร้างนำมากันส่วนที่ไม่ต้องการ หรือ กันสีด้วยแผ่นฟิล์มที่ใช้สำหรับงานพู่กันกลมก็ได้แต่ราคาแพงหน่อย ทางที่ดีนักเรียนนักศึกษาควรฝึกใช้ฝีมือจะดีที่สุด
สีโปสเตอร์ผสมกับปูนพลาสเตอร์ แล้วใช้เกรียงเพนท์บนวัสดุต่างๆ เมื่อแข็งตัวจะได้งานที่นูนสวยงามไม่แพ้สีน้ำมัน เป็นที่ระลึกได้
ถ้าจะประหยัด ใช้สีโปสเตอร์ระบายหรือตกแต่งวัสดุต่างๆ เช่น กระเบื้องไม้ฯลฯ ก็สามารถทำได้ เสร็จแล้วใช้แลคเกอร์สเปย์พ่นทับเสียเพี่อความทนทาน
สีโปสเตอร์นั้นทึบแสง การเขียนภาพแล้วใช้สีโปสเตอร์สีขาว ระบายตกแต่งส่วนที่เป็นแสงจัดหรือส่วนที่เป็นแสงสะท้อนได้อย่างดี แต่อย่าใช้ในงานสีน้ำแนวจิตรกรรม ส่วนงานออกแบบไม่ว่าเป็นสีอะไรก็ทับได้

เทคนิคการแรเงา

การแรเงา คือ การสร้างรอยดินสอ ปากกาหรืออื่นๆ ด้วยการควบคุมน้ำหนักผ่อนหนักเบาในการ ขีด เขียน เกลี่ย ปาด ทับ ไขว้ และใช้รอยเหล่านี้สร้างน้ำหนักให้เกิดลักษณะผิวของธรรมชาติ หรือหุ่นที่ใช้ในการเขียน การแรเงาจึงเป็นการสร้างความเข้มด้วยระยะต่างๆ ในรูปทรงของงานชิ้นหนึ่งๆ เมื่อใช้ตามลักษณะแสงเงาจะทำให้เกิดมิติของมวลสารและระยะ หรือปริมาณมาตรของรูปทรง น้ำหนักที่ไล่เรียงจากอ่อนไปหาแก่อย่างสม่ำเสมอนี้ เรียกว่า ค่า (VALUE) ของสีหรือน้ำหนักที่ระบายเป็นระยะอ่อน กลาง แก่ ค่าของระยะอ่อนแก่เหล่านี้นิยมเรียกกันว่า น้ำหนัก
การแรเงาน้ำหนักจึงเป็นการสร้างเงาในภาพ ให้ดูมีความลึกมีระยะใกล้ไกลและดูมีปริมาตร เปลี่ยนค่าของรูปร่างที่มีเพียง 2 มิติให้เป็น 3 มิติ ทำให้รูปร่างที่มีเพียงความกว้าง-ยาวเปลี่ยนค่าเป็นรูปทรงมีความตื้นลึกหนาบางเกิดขึ้น ความตื้นลึกหนาบางนี่เป็นความรู้สึกเท่านั้น และการทำให้เกิดภาพเช่นนี้ก็คือ เทคนิคในการสร้างภาพลวงตา (ILLUSION) เป็นวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่ง น้ำหนักในการวาดเขียนจึงมีความหมายดังนี้
1. บริเวณมืดและสว่างขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพเขียน
2. แสดงความอ่อนแก่ระดับต่างๆ จากดำมาขาวให้แก่รูปทรงที่มีอยู่ในภาพ นัยหนึ่งคือ ทำหน้าที่แสงเงาให้แก่รูปทรง ลักษณะของน้ำหนัก จะเป็นดังนี้1. มี 2 มิติ คือ กว้างกับยาว
2. มีทิศทาง
3. มีความยาว ความสั้น ความโค้ง หรือเป็นคลื่น ฯลฯ
4. มีรูปร่าง กลม เหลี่ยม หรืออิสระตามลักษณะของรูปทรง
5. มีความอ่อน แก่ และลักษณะผิวต่างๆ ตามแบบหรือหุ่นที่วาด หน้าที่ของน้ำหนัก ในการวาดเขียนจำแนกออกได้ ดังนี้
1. ให้ความแตกต่างระหว่างรูปทรงกับพื้นที่ หรือรูปทรงกับที่ว่าง
2. ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวต่อการนำสายตาผู้ดู บริเวณที่น้ำหนักตัดกันจะดึงดูดความสนใจ ถ้าตัดกันหลายแห่งจะนำสายตาให้เคลื่อนที่จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง ทั้งนี้จะเป็นไปตามจังหวะที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งอาจกลมกลืนหรือตัดกันอย่างรุนแรง
3. ให้ความเป็น 2 มิติ หรือ 3 มิติแก่รูปทรง
4. ให้ความรู้สึกในภาพ ด้วยการประสานกันของน้ำหนัก
5. ให้ความลึกแก่ภาพ แนวคิดในการแรเงาน้ำหนัก เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ เพราะอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ หรือต้นแสงจากแหล่งกำเนิดอื่น เมื่อมีแสงสว่างก็ต้องมีเงาควบอยู่ด้วย และแสงเงาทำให้เรามองเห็นวัตถุที่ผิวสีเดียวกันมีน้ำหนักแตกต่างกัน เช่น วัตถุสีขาวส่วนที่ถูกแสงจะเป็นสีขาวสว่างจ้า แต่ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะขาวหม่น ทั้งที่วัตถุนั้นก็เป็นสีขาวเท่ากันตลอดพื้นผิว เมื่อธรรมชาติของแสงเงาให้ผลที่มองเห็นเช่นนี้ ผู้เขียนจำต้องเข้าใจการจัดน้ำหนักอ่อนแก่ให้ได้ใกล้เคียงกับน้ำหนักของแสงที่ตกกระทบผิววัตถุ เพราะความแตกต่างของน้ำหนักทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกันไปได้ เช่น น้ำหนักสีที่อ่อนให้ความรู้สึกเบา น้ำหนักสีที่แก่ทำให้ดูแล้วรู้สึกหนัก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดระยะต่างๆ ในการมองเห็น ตลอดจนความรู้สึกด้านความงามในทางศิลปะ
เทคนิคการแรเงาน้ำหนักที่นิยมใช้กัน
1. ให้แสงเข้าทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นเงา เป็นวิธีการที่ใช้ในการเขียนภาพเหมือนจริงทั่วไป
2. ให้แสงเข้าตรงหน้า ส่วนที่อยู่ใกล้จะมีน้ำหนักอ่อน ส่วนที่อยู่ไกลจะมีน้ำหนักแก่ น้ำหนักที่ใช้ในวิธีนี้เรียกว่า จิอารอสคูโร (CHIAROSCURO) เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ความสว่างและความมืด อันต่างไปจากการให้ปริมาตรของรูปทรงด้วยการให้แสงเงาทั่วไป
3. กำหนดให้แสงขึ้นจากจุดกลางภาพ ส่วนมากจะใช้แสงเทียนหรือแสงไฟฟ้า
4. ให้แสงเกิดขึ้นในจุดที่ต้องการ ส่วนอื่นให้อยู่ในเงามืด
5. ให้แสงกระจายเลื่อนไหลไปทั่วภาพ เน้นความใกล้ ไกล ลึก ตื้นด้วยบรรยากาศของน้ำหนักจนเกือบไม่คำนึงถึงปริมาตรของรูปทรง
6. ให้น้ำหนักอ่อนทั้งรูปและพื้น ไม่เน้นปริมาตรของรูปทรง แต่เน้นความสว่างของแสงให้จ้า ไม่มีเงา
7. ให้แสงเต้นระริกกระจายไปทั่วๆ ภาพ
ลักษณะของแสงเงาที่ใช้ในการวาดเขียนแบ่งออกเป็น 6 ค่า
1. แสงสว่างที่สุด (HIGH LIGHT) เป็นบริเวณที่วัตถุกระทบแสงโดยตรง ทำให้ส่วนนั้นมีน้ำหนักอ่อนที่สุด ถ้าวัตถุเป็นสีขาวบริเวณนั้นจะปล่อยว่าง ไม่ต้องลงเงาก็ได้
2. แสงสว่าง (LIGHT) เป็นบริเวณที่ไม่ถูกแสงโดยตรง แต่มีบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากแสง การลงน้ำหนักบริเวณนี้ต้องให้อ่อนจางแต่แก่กว่าบริเวณแสงสว่างที่สดุดเล็กน้อย
3. แสงสะท้อน (REFLECTED LIGHT) เป็นบริเวณของวัตถุที่ไม่ได้กระทบแสงโดยตรง หากอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเงาแต่ถูกแสงสะท้อนจากวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ กันมากระทบ น้ำหนักของบริเวณนี้จะอ่อนกว่าบริเวณที่เป็นเงา ค่าของแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกในภาพมีมิติ มีมวลสาร มีชีวิตชีวา ดูเหมือนมีอากาศอยู่รอบๆ
4. เงา (DARK) เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของแสงน้อยมาก ซึ่งเงาบริเวณนี้จะต้องแรเงาให้มีน้ำหนักเข้มกว่าบริเวณแสงสว่างพอประมาณ พอที่จะแยกแสงและเงาออกจากกันได้
5. เงามืด (DARKEST) เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงจึงต้องแรเงาด้วยน้ำหนักที่เข้มกว่าบริเวณอื่นๆ ทั้งหมดของวัตถุ
6. เงาตกทอด (CAST SHADOW) เป็นบริเวณที่เงาของวัตถุนั้นๆ ทอดไปตามพื้นที่รองรับวัตถุ โดยจะมีน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน ขนาดและรูปร่างของเงาตกทอดจะขึ้นอยู่กับทิศทางของแสง รูปร่างของวัตถุและพื้น
เทคนิคการแรเงาน้ำหนัก เมื่อตรวจแก้ไขข้อบกพร่องของภาพร่างดีแล้ว และเป็นภาพร่างที่พร้อมจะแรเงาน้ำหนักการกำหนดแสงเงาบนวัตถุในภาพร่างซึ่งมีรูปทรงต่างๆ นั้น อาจลำดับขั้นตอนของกระบวนการได้ ดังนี้
1. หรี่ตาดูวัตถุที่เป็นหุ่น กำหนดพื้นที่แบ่งส่วนระหว่างแสงเงาออกจากกันให้ชัดเจนด้วยเส้นร่างเบาๆบนรูปทรงของภาพร่างที่วาดไว้นั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคร่าวๆ คือ แสงกับเงาเท่านั้น
2. แรเงาน้ำหนักในส่วนพื้นที่ที่เป็นเงาทั้งหมด ด้วยน้ำหนักเบาที่สุดของเงาที่ตกทอดบนวัตถุ และเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นแสงไว้
3. พิจารณาเปรียบเทียบน้ำหนักที่เบาที่สุดกับน้ำหนักที่เข้มในส่วนขึ้นอีกเท่าใด แล้วแบ่งน้ำหนักเงาที่อ่อนกับเงาที่เข้มขึ้นด้วยวิธีร่างเส้นแบ่งพื้นที่เบาๆ เช่นกันกับข้อ 1 จากนี้ก็แรเงาเพิ่มน้ำหนักในส่วนที่เข้มขึ้น ตลอดเวลาจะต้องเปรียบเทียบน้ำหนักของเงาที่ลงใหม่กับเงาอ่อนและแสงที่เว้นไว้อยู่เสมอเพื่อให้การแรเงาน้ำหนักได้ใกล้เคียงความเป็นจริง การแรเงาน้ำหนักต้องลงรวมๆ ไปทีละน้ำหนัก จะทำให้คุมน้ำหนักได้ง่าย
4. การแรเงาน้ำหนักที่เข้มขึ้นจะใช้วิธีการเดียวกับข้อ 1 และข้อ 3 จนครบกระบวนการ จะทำให้ได้ภาพที่มีน้ำหนักแสงเงาใกล้เคียงกับความเป็นจริงจากนั้นเกลี่ยน้ำหนักที่แบ่งไว้ในเบื้องต้นให้ประสานกลมกลืนกัน
5. พิจารณาในส่วนของแสงที่เว้นไว้ จะเห็นว่ามีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับในส่วนของเงาต้องใช้ดินสอลงน้ำหนักแผ่วๆ ในส่วนของแสงที่เว้นไว้ เพื่อให้รายละเอียดของแสงเงามีน้ำหนักที่สมบูรณ์
6. เงาตกทอด ใช้หลักการเดียวกับการแรเงาน้ำหนักบนวัตถุที่กล่าวมาแล้ว แต่ต้องสังเกตทิศทางของแสงประกอบการเขียนแสงในการวาดเขียนปกติจะใช้ประมาณ 45? -- กับพื้น แต่มีข้อสังเกต คือ ถ้าแสงมาจากมุมที่สูง จะเห็นเงาตกทอดสั้น ถ้าแสงมาจากมุมที่ต่ำลง เงาตกทอดจะยาวขึ้น ในส่วนน้ำหนักของเงาตกทอดเองก็จะมีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับแสงเงาบนวัตถุ คือเงาที่อยู่ใกล้วัตถุจะมีความเข้มกว่าเงาที่ทอดห่างตัววัตถุสาเหตุมาจากแสงสะท้อนรอบๆ ตัววัตถุที่สะท้อนเข้ามาลบเงาให้จางลง
การแรเงาให้เกิดมิติ ใกล้ กลาง ไกล ความอ่อน กลาง แก่ของน้ำหนัก นอกจากจะใช้เพื่อสร้างมิติให้เกิดความรู้สึก สูง ต่ำ หนา บาง แก่ วัตถุในภาพแล้ว น้ำหนักยังใช้สร้างมิติแห่งความรู้สึกด้านระยะใกล้ไกลของวัตถุในภาพอีกด้วย ค่าน้ำหนักถ้าใช้ในการสร้างความรู้สึกด้านมิติแก่วัตถุ ค่าน้ำหนักแก่จะให้ความรู้สึกต่ำหรือลึกลงไป ค่าน้ำหนักที่อ่อนจะให้ความรู้สึกที่สูงหรือนูนขึ้นมา ส่วนในการสร้างความรู้สึกด้านระยะใกล้-ไกล ระยใกล้จะใช้ค่าน้ำหนักแสงเงาที่ชัดเจนกว่าระยะไกล ระยะกลางก็ใช้ค่าน้ำหนักที่อ่อนลง และระยะไกลก็จะแรเงาให้อ่อนที่สุด หรือเน้นรายละเอียด หรือเส้นให้น้อยกว่าระยะกลางและใกล้ นอกจากนี้ การแรเงาน้ำหนักลักษณะของผิววัตถุ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้การวาดเขียนในสิ่งนั้นๆ ดูเหมือนจริงขึ้น หากสามารถถ่ายทอดลักษณะผิวและสีสันของวัตถุออกมาเป็นงานขาว-ดำได้อย่างครบถ้วน ข้อสำคัญควรฝึกการอ่านเปรียบเทียบสีของวัตถุที่ใช้เป็นแบบในการเขียนให้ดีว่า สีใด มีค่าน้ำหนักอ่อนแก่กว่ากันเช่นไร โดยทบทวนจากวิชาทฤษฎีสี เมื่อนำมาวาดเขียนแปลงเป็นภาพขาว-ดำ จะทำให้ได้ความรู้สึกที่เหมือนจริงตามธรรมชาติของสิ่งนั้น และดูดีในฐานะที่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง แต่ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับสภาพของแสง และ เงา ที่จะเป็นตัวแปรในการกำหนดอีกครั้งหนึ่ง

องค์ประกอบทางศิลปะ (ระดับชั้น ม.4,5,6)

การจัดองค์ประกอบทางศิลปะ
การจัดองค์ประกอบทางศิลปะ เป็น หลักสำคัญสำหรับผู้สร้างสรรค์ และผู้ศึกษางานศิลปะ เนื่องจากผลงานศิลปะใด ๆ ก็ตาม ล้วนมีคุณค่าอยู่ 2 ประการ คือ คุณค่าทางด้านรูปทรง และ คุณค่าทางด้านเรื่องราว คุณค่าทางด้านรูปทรง เกิดจากการนำเอา องค์ประกอบต่าง ๆ ของ ศิลปะ อันได้แก่ เส้น สี แสงและเงา รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว ฯลฯ มาจัดเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความงาม ซึ่งแนวทางในการนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาจัดรวมกันนั้นเรียกว่า การจัดองค์ ประกอบศิลป์ (Art Composition) โดยมีหลักการจัดตามที่จะกล่าวต่อไป อีกคุณค่าหนึ่งของงานศิลปะ คือ คุณค่าทางด้านเนื้อหา เป็นเรื่องราว หรือสาระของผลงานที่ศิลปินผู้สร้าง สรรค์ต้องการที่จะแสดงออกมา ให้ผู้ชมได้สัมผัส รับรู้ โดยอาศัยรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบศิลป์นั่นเองหรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปิน นำเสนอเนื้อหาเรื่องราวผ่านรูปลักษณะที่เกิดจากการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ ถ้าองค์ประกอบที่จัดขึ้น ไม่สัมพันธ์กับเนื้อหาเรื่องราวที่นำเสนอ งานศิลปะนั้นก็จะขาดคุณค่าทางความงามไป ดังนั้นการจัดองค์ประกอบศิลป์ จึงมีความสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้งานศิลปะทรงคุณค่าทางความงามอย่างสมบูรณ์
การจัดองค์ประกอบของศิลปะ มีหลักที่ควรคำนึง อยู่ 5 ประการ คือ
1. สัดส่วน (Proportion)
สัดส่วน หมายถึง ความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมระหว่างขนาดของ องค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดที่อยู่ในรูปทรงเดียวกันหรือระหว่างรูปทรง และรวมถึง ความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายด้วย ซึ่งเป็นความพอเหมาะพอดี ไม่ มากไม่น้อย ขององค์ประกอบทั้งหลายที่นำมาจัดรวมกัน ความเหมาะสมของสัดส่วนอาจ พิจารณาจากคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1.1 สัดส่วนที่เป็นมาตรฐาน จากรูปลักษณะตามธรรมชาต ของ คน สัตว์ พืช ซึ่งโดยทั่วไป ถือว่า สัดส่วนตามธรรมชาติ จะมีความงามที่เหมาะสมที่สุด หรือจากรูปลักษณะที่เป็นการ สร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น Gold section เป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงของกรีก ซึ่งถือว่า "ส่วนเล็กสัมพันธ์กับส่วนที่ใหญ่กว่า ส่วนที่ใหญ่กว่าสัมพันธ์กับส่วนรวม" ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างลงตัว
1.2 สัดส่วนจากความรู้สึก โดยที่ศิลปะนั้นไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความงามของรูปทรงเพียง อย่างเดียว แต่ยังสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึง เนื้อหา เรื่องราว ความรู้สึกด้วย สัดส่วนจะช่วย เน้นอารมณ์ ความรู้สึก ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเรื่องราวที่ศิลปินต้องการ ลักษณะเช่น นี้ ทำให้งานศิลปะของชนชาติต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องราว อารมณ์ และ ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่าง ๆ กันไป เช่น กรีก นิยมในความงามตามธรรมชาติเป็น อุดมคติ เน้นความงามที่เกิดจากการประสานกลมกลืนของรูปทรง จึงแสดงถึงความเหมือน จริงตามธรรมชาติ ส่วนศิลปะแอฟริกันดั้งเดิม เน้นที่ความรู้สึกทางวิญญานที่น่ากลัว ดังนั้น รูปลักษณะจึงมีสัดส่วนที่ผิดแผกแตกต่างไปจากธรรมชาติทั่วไป
2. ความสมดุล (Balance)
ความสมดุล หรือ ดุลยภาพ หมายถึง น้ำหนักที่เท่ากันขององค์ประกอบ ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ในทางศิลปะยังรวมถึงความประสานกลมกลืน ความพอเหมาะพอดีของ ส่วนต่าง ๆ ในรูปทรงหนึ่ง หรืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ลงใน งานศิลปกรรมนั้นจะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ในธรรมชาตินั้น ทุกสิ่งสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้มเพราะมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน ฉะนั้น ในงานศิลปะถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป แน่นไป หรือ เบา บางไปก็จะทำให้ภาพนั้นดูเอนเอียง และเกิดความ รู้สึกไม่สมดุล เป็นการบกพร่องทางความงาม ดุลยภาพในงานศิลปะ มี 2 ลักษณะ คือ
1. ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน คือ การวางรูปทั้งสองข้างของแกนสมดุล เป็นการสมดุลแบบธรรมชาติลักษณะแบบนี้ใน ทางศิลปะมีใช้น้อย ส่วนมากจะใช้ในลวดลายตกแต่ง ในงานสถาปัตยกรรมบางแบบ หรือ ในงานที่ต้องการดุลยภาพที่นิ่งและมั่นคงจริง ๆ
2. ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) หรือ ความสมดุลแบบซ้ายขวาไม่เหมือน กัน มักเป็นการสมดุลที่เกิดจาการจัดใหม่ของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ทางซ้ายและขวาจะไม่ เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความสมดุลกัน อาจเป็นความสมดุลด้วย น้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้ การจัดองค์ประกอบให้เกิดความ สมดุลแบบอสมมาตรอาจทำได้โดย เลื่อนแกนสมดุลไปทางด้านที่มีน้ำหนักมากว่า หรือ เลื่อนรูปที่มีน้ำหนักมากว่าเข้าหาแกน จะทำให้เกิดความสมดุลขึ้น หรือใช้หน่วยที่มีขนาด เล็กแต่มีรูปลักษณะที่น่าสนใจถ่วงดุลกับรูปลักษณะที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา
3. จังหวะลีลา (Rhythm)
จังหวะลีลา หมายถึง การเคลื่อนไหวที่เกิดจาการซ้ำกันขององค์ประกอบ เป็นการซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบธรรมดาที่มีช่วงห่างเท่าๆ กัน มาเป็นระเบียบที่สูงขึ้น ซับซ้อนขึ้นจนถึงขั้นเกิดเป็นรูปลักษณะของศิลปะ โดยเกิดจาก การซ้ำของหน่วย หรือการสลับกันของหน่วยกับช่องไฟ หรือเกิดจาก การเลื่อนไหลต่อเนื่องกันของเส้น สี รูปทรง หรือ น้ำหนัก
รูปแบบๆ หนึ่ง อาจเรียกว่าแม่ลาย การนำแม่ลายมาจัดวางซ้ำ ๆ กันทำให้เกิดจังหวะ และถ้าจัดจังหวะให้แตกต่างกันออกไป ด้วยการเว้นช่วง หรือสลับช่วง ก็จะเกิดลวดลาย ที่แตกต่างกันออกไป ได้อย่างมากมาย แต่จังหวะของลายเป็นจังหวะอย่างง่าย ๆ ให้ความ รู้สึกเพียงผิวเผิน และเบื่อง่าย เนื่องจากขาดความหมาย เป็นการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกัน แต่ไม่มีความหมายในตัวเอง จังหวะที่น่าสนใจและมีชีวิต ได้แก่ การเคลื่อนไหวของ คน สัตว์ การเติบโตของพืช การเต้นรำ เป็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างที่ให้ความบันดาล ใจในการสร้างรูปทรงที่มีความหมาย
เนื่องจากจังหวะของลายนั้น ซ้ำตัวเองอยู่ตลอดไปไม่มีวันจบ และมีแบบรูปของการซ้ำ ที่ตายตัว แต่งานศิลปะแต่ละชิ้นจะต้องจบลงอย่างสมบูรณ์ และมีความหมายในตัว งาน ศิลปะทุกชิ้นมีกฎเกณฑ์และระเบียบที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน งานชิ้นใดที่แสดงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกินไป งานชิ้นนั้นก็จะจำกัดตัวเอง ไม่ต่าง อะไรกับลวดลายที่มองเห็นได้ง่าย ไม่มีความหมาย ให้ผลเพียงความเพลิดเพลินสบายตาแก่ผู้ชม
4. การเน้น (Emphasis)
การเน้น หมายถึง การกระทำให้เด่นเป็นพิเศษกว่าธรรมดา ในงานศิลปะจะต้องมี ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือจุดใดจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกว่าส่วนอื่น ๆ เป็นประธานอยู่ ถ้าส่วนนั้นๆ อยู่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน ก็อาจถูกกลืน หรือ ถูกส่วนอื่นๆที่มีความสำคัญน้อยกว่าบดบัง หรือแย่งความสำคัญ ความน่าสนใจไปเสียงานที่ไม่มีจุดสนใจ หรือประธาน จะทำให้ดูน่าเบื่อ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกันโดยปราศจากความหมาย หรือเรื่องราวที่น่าสนใจดังนั้น ส่วนนั้นจึงต้องถูกเน้น ให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา เป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ผลงานมีความงาม สมบูรณ์ ลงตัว และน่าสนใจมากขึ้น การเน้นจุดสนใจสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
1. การเน้นด้วยการใช้องค์ประกอบที่ตัดกัน (Emphasis by Contrast) สิ่งที่แปลกแตก ต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของงาน จะเป็นจุดสนใจ ดังนั้น การใช้องค์ประกอบที่มีลักษณะ แตกต่าง หรือขัดแย้ง กับส่วนอื่น ก็จะทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงานได้ แต่ทั้งนี้ต้อง พิจารณาลักษณะความแตกต่างที่นำมาใช้ด้วยว่า ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในส่วนรวม และทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่ โดยต้องคำนึงว่า แม้มีความขัดแย้ง แตก ต่างกันในบางส่วน และในส่วนรวมยังมีความกลมกลืนเป็นเอกภาพเดียวกัน
2. การเน้นด้วยการด้วยการอยู่โดดเดี่ยว (Emphasis by Isolation) เมื่อสิ่งหนึ่งถูกแยก ออกไปจากส่วนอื่น ๆ ของภาพ หรือกลุ่มของมัน สิ่งนั้นก็จะเป็นจุดสนใจ เพราะเมื่อ แยกออกไปแล้วก็จะเกิดความสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่าง ที่ไม่ใช่แตก ต่างด้วยรูปลักษณะ แต่เป็นเรื่องของตำแหน่งที่จัดวาง ซึ่งในกรณีนี้ รูปลักษณะนั้นไม่ จำเป็นต้องแตกต่างจากรูปอื่น แต่ตำแหน่งของมันได้ดึงสายตาออกไป จึงกลายเป็น จุดสนใจขึ้นมา
3. การเน้นด้วยการจัดวางตำแหน่ง (Emphasis by Placement) เมื่อองค์ประกอบอื่น ๆ ชี้นำมายังจุดใด ๆ จุดนั้นก็จะเป็นจุดสนใจที่ถูกเน้นขึ้นมา และการจัดวางตำแหน่งที่ เหมาะสม ก็สามารถทำให้จุดนั้นเป็นจุดสำคัญขึ้นมาได้เช่นกัน
พึงเข้าใจว่า การเน้น ไม่จำเป็นจะต้องชี้แนะให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป สิ่งที่จะต้อง ระลึกถึงอยู่เสมอ คือ เมื่อจัดวางจุดสนใจแล้ว จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งอื่นมา ดึงความสนใจออกไป จนทำให้เกิดความสับสน การเน้น สามารถกระทำได้ด้วยองค์ ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น สี แสง-เงา รูปร่าง รูปทรง หรือ พื้นผิว ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการในการนำเสนอของศิลปินผู้สร้างสรรค์
5. เอกภาพ (Unity)
เอกภาพ หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบศิลป์ทั้งด้านรูปลักษณะ และด้านเนื้อหาเรื่องราว เป็นการประสานหรือจัดระเบียบของส่วนต่าง ๆให้เกิดความเป็น หนึ่งเดียว เพื่อผลรวมอันไม่อาจแบ่งแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป การสร้างงานศิลปะ คือ การสร้างเอกภาพขึ้นจากความสับสน ความยุ่งเหยิง เป็นการจัดระเบียบ และดุลยภาพ ให้แก่สิ่งที่ขัดแย้งกันเพื่อให้รวมตัวกันได้ โดยการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆให้สัมพันธ์กันเอกภาพของงานศิลปะ มีอยู่ 2 ประการ คือ
1. เอกภาพของการแสดงออก หมายถึง การแสดงออกทีมีจุดมุ่งหมายเดียว แน่นอน และมี ความเรียบง่าย งานชิ้นเดียวจะแสดงออกหลายความคิด หลายอารมณ์ไม่ได้ จะทำให้สับสน ขาดเอกภาพ และการแสดงออกด้วยลักษณะเฉพาตัวของศิลปินแต่ละคน ก็สามารถทำให้ เกิดเอกภาพแก่ผลงานได้ 2. เอกภาพของรูปทรง คือ การรวมตัวกันอย่างมีดุลยภาพ และมีระเบียบขององค์ประกอบ ทางศิลปะ เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงหนึ่ง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ของศิลปิน ออกได้อย่างชัดเจน เอกภาพของรูปทรง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อความงามของผลงานศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่ศิลปินใช้เป็นสื่อในการแสดงออกถึงเรื่องราว ความคิด และอารมณ์ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการสร้างเอกภาพในงานศิลปะเป็นกฎเกณฑ์เดียวกันกับธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ 2 หัวข้อ คือ
1. กฎเกณฑ์ของการขัดแย้ง (Opposition) มีอยู่ 4 ลักษณะ คือ 1.1 การขัดแย้งขององค์ประกอบทางศิลปะแต่ละชนิด และรวมถึงการขัดแย้งกันของ องค์ประกอบต่างชนิดกันด้วย 1.2 การขัดแย้งของขนาด 1.3 การขัดแย้งของทิศทาง 1.4 การขัดแย้งของที่ว่างหรือ จังหวะ 2. กฎเกณฑ์ของการประสาน (Transition) คือ การทำให้เกิดความกลมกลืน ให้สิ่งต่าง ๆ เข้ากันด้อย่างสนิท เป็นการสร้างเอกภาพจากการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน การประสานมีอยู่ 2 วิธี คือ
2.1 การเป็นตัวกลาง (Transition) คือ การทำสิ่งที่ขัดแย้งกันให้กลมกลืนกัน ด้วยการ ใช้ตัวกลางเข้าไปประสาน เช่น สีขาว กับสีดำ ซึ่งมีความแตกต่าง ขัดแย้งกันสามารถทำให้ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ ด้วยการใช้สีเทาเข้าไปประสาน ทำให้เกิดความกลมกลืนกัน มากขึ้น 2.2 การซ้ำ (Repetition) คือ การจัดวางหน่วยที่เหมือนกันตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป เป็น การสร้างเอกภาพที่ง่ายที่สุด แต่ก็ทำให้ดูจืดชืด น่าเบื่อที่สุด นอกเหนือจากกฎเกณฑ์หลักคือ การขัดแย้งและการประสานแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์รอง อีก 2 ข้อ คือ
1. ความเป็นเด่น (Dominance) ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ 1.1 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการขัดแย้ง ด้วยการเพิ่ม หรือลดความสำคัญ ความน่าสนใจ ในหน่วยใดหน่วยหนึ่งของคู่ที่ขัดแย้งกัน 1.2 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการประสาน
2. การเปลี่ยนแปร (Variation) คือ การเพิ่มความขัดแย้งลงในหน่วยที่ซ้ำกัน เพื่อป้องกัน ความจืดชืด น่าเบื่อ ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าสนใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปรมี 4 ลักษณะ คือ
2.1 การปลี่ยนแปรของรูปลักษณะ 2.2 การปลี่ยนแปรของขนาด 2.3 การปลี่ยนแปรของทิศทาง 2.4 การปลี่ยนแปรของจังหวะ
การเปลี่ยนแปรรูปลักษณะจะต้องรักษาคุณลักษณะของการซ้ำไว้ ถ้ารูปมีการเปลี่ยน แปรไปมาก การซ้ำก็จะหมดไป กลายเป็นการขัดแย้งเข้ามาแทน และ ถ้าหน่วยหนึ่งมีการ เปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็ว มีความแตกต่างจากหน่วยอื่น ๆ มาก จะกลายเป็นความเป็นเด่น เป็นการสร้างเอกภาพด้วยความขัดแย้ง